ลูกเสือชาวบ้าน

ในพระบรมราชานุเคราะห์

พระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในกิจการลูกเสือชาวบ้าน
1. ห้ามมิให้นำกิจการลูกเสือชาวบ้านไปเกี่ยวข้องกับการเมือง
2. ห้ามมิให้มีการแสดงแสนยานุภาพในกิจการลูกเสือชาวบ้าน
3. ห้ามมิให้นำระบบราชการไปใช้ในกิจการลูกเสือชาวบ้าน
4. ลูกเสือชาวบ้านไม่มีเครื่องแบบ แต่มีเครื่องหมายเพียงอย่างเดียวคือ ผ้าผูกคอ ห่วงรัดผ้าผูกคอ และหน้าเสือ ให้หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องแบบและเครื่องหมายอื่น ๆ ทุกชนิด
5. ทรงปรารถนาให้กิจการลูกเสือชาวบ้านเป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน
6. ทรงให้ลูกเสือชาวบ้านเป็นผู้นำในการพัฒนาตนเอง พัฒนาอาชีพ และพัฒนาท้องถิ่น
7. ทรงให้ลุกเสือชาวบ้านเป็นผู้นำในการสร้างระเบียบ มีวินัย และประหยัด
8. ห้ามมิให้มีการใช้จ่ายในการฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้าน หรือการแสดงรอบกองไฟอย่างฟุ่มเฟือย และห้ามเสพเครื่องดองของเมาทุกชนิด ในระหว่างการฝึกอบรม
9. ให้ยึดมั่นและเผยแพร่ระบบหมู่ของลูกเสือเข้าสู่ประชาชน เพื่อสร้างสรรค์ความสามัคคี ความพร้อมเพรียง เป็นอันหนึ่งอันเดียว
10. ห้ามใช้งบประมาณทางการเมืองในกิจการลุกเสือชาวบ้าน
11. ให้ลูกเสือชาวบ้านเป็นผู้นำในการใช้ของไทย และบริโภคอาหารที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย
12. ให้ลุกเสือชาวบ้านเป็นผู้นำในการฟื้นฟู และรักษาชนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมที่ดีของแต่ละท้องถิ่นไว้


  ลูกเสือชาวบ้านก่อตั้งขึ้นครั้งแรก โดย พ.ต.อ.สมควร  หริกุล (ยศในขณะนั้น)  เป็นผู้ริเริ่มดำเนินการจัดให้มีการฝึกอบรมลูกเสือรุ่นแรกขึ้นที่ บ้านเหล่ากอหก  กิ่งอำเภอนาแห้ว  อำเภอด่านซ้าย  จังหวัดเลย  ระหว่างวันที่ 9 – 12 สิงหาคม 2514  หลังจากการฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้านรุ่นแรกเป็นผลสำเร็จแล้ว ได้ขยายผลการฝึกอบรมไปยังพื้นที่ต่างๆ ตามแนวชายแดน ได้แก่ จังหวัดเลย อุดรธานี หนองคาย นครพนม พิษณุโลก สกลนคร  กาฬสินธุ์  ร้อยเอ็ด  และกระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว  การฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้านมีขึ้นทุกจังหวัด ครบทุกจังหวัดรวมทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร ทางศูนย์ปฏิบัติการลูกเสือชาวบ้านจึงได้ถือเอาวันที่ 9 สิงหาคม 2514  เป็นวันกำเนิดลูกเสือชาวบ้าน


   เมื่อฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้านได้จำนวนหนึ่ง  พ.ต.อ.สมควร  หริกุล  จึงได้สรุปผลการฝึกอบรมเสนอต่อ พล.ต.ท.สุรพล  จุลละพราหมณ์  ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน  ท่านได้ให้การสนับสนุนการฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้านเป็นอย่างดี  และได้มอบหมายให้  พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์  จำรัสโรมรัน    ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน รวบรวมข้อมูลการฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้านโดยละเอียด            


   พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์   จึงได้ศึกษาและสังเกตการณ์ฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้านแล้วพิจารณาเห็นว่า การฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้านมีประโยชน์และสร้างสรรค์ความสามัคคีกลมเกลียวให้บังเกิดขึ้นในหมู่ข้าราชการ พ่อค้า นักธุรกิจ และประชาชนทั่วไป สามารถขจัดช่องว่างและเส้นขนานระหว่างข้าราชการกับประชาชนได้เป็นอย่างดียิ่ง ตรงกับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการสร้างความสามัคคีธรรมให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนชาวไทย จึงนำเรื่องราวการฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้านโดยละเอียดขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


   ต่อมาเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2515  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรกิจกรรมลูกเสือชาวบ้านที่ค่ายเสนีย์รณยุทธ กองกำกับการตำรวจตระเวนชานแดนเขต 4 อำเภอเมือง  จังหวัดอุดรธานี ทั้งสองพระองค์ทรงพอพระราชหฤทัย จึงได้พระราชทานเงิน  100,000 บาท เป็นทุนทรัพย์จัดหาผ้าผูกคอลูกเสือชาวบ้าน ห่วงรัดผ้าผูกคอ และหน้าเสือ  และทรงรับกิจการลูกเสือชาวบ้านไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ตั้งแต่นั้นเป็นมา