ประวัติลูกเสือชาวบ้าน

                         การดำเนินงานของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย   ได้เริ่มขึ้นในกลุ่มคนจีน   ระหว่าง พ.ศ.2468-2470  โดยสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จากประเทศจีน  ได้ถูกส่งตัวเข้ามาขยายงานในกลุ่มคนจีนในประเทศไทย  และการดำเนินงานได้แผ่ขยายอิทธิพลเรื่อยมาจนสามารถจัดตั้ง “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย”    ได้สำเร็จในวันที่ 1 ธันวาคม 2485   การดำเนินงานของพรรคคอมมิวนิสต์มีเข็มมุ่งไปในภาคอีสานมากที่สุด  ทั้งนี้เพราะสามารถติดต่อขอรับการสนับสนุนได้จากประเทศใกล้เคียง  และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้ปะทะกับกองกำลังเจ้าหน้าที่เป็นครั้งแรก  เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม  2508  ที่บ้านนาบัว  ต.เรณูนคร  อ.ธาตุพนม  จ.นครพนม (ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ อ.เรณูนคร) เรียกว่า  วันเสียงปืนแตก  ผลักดันให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจำต้องมีมติให้ดำเนินการต่อสู้ด้วยอาวุธ    โดยประกาศจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธอย่างเป็นหลักฐานขึ้นโดยใช้ชื่อว่า “พลพรรคประชาชนต่อต้านอเมริกาแห่งประเทศไทย  หรือ  พล  ป.ต.อ.”  ขึ้นที่ภูกะเสด  ต.โพนทอง  อ.อำนาจเจริญ   จ.อุบลราชธานี   (ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ อ.เสนางคนิคม 

จ.อำนาจเจริญ) เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2508  และได้ประกาศจัดตั้ง “กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย” หรือ “ท.ป.ท.” อย่างเป็นหลักฐาน

                          ตั้งแต่ พ.ศ.2508  เป็นต้นมา  สถานการณ์ตามแนวชายแดนภาคอีสานของประเทศไทย  ถูกภัยคตุกคามจากการปฏิบัติการของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง โดยการแทรกซึม  โฆษณาชวนเชื่อ  ชักชวนเด็กหนุ่มชาวเขาให้นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์  และให้เดินทางไปฝึกอบรมลัทธิการเมือง การทหารในทางตอนเหนือของประเทศลาว  บางคนไปอบรมต่อถึงประเทศเวียดนามเหนือ และประเทศจีนตอนใต้  เมื่อเด็กเหล่านี้กลับสู่ถิ่นฐานเดิมของตนในเวลาต่อมา(ระยะเวลาการอบรมประมาณ 8 เดือน ถึง  1  ปี) ก็กลับมาพร้อมกับคนแปลกหน้า และทำการโฆษณาชวนเชื่อ   ชักชวนคนในหมู่บ้านต่าง ๆ ให้นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์มากขึ้น

                           ต่อมา  กลุ่มชาวเขาที่เข้าร่วมขบวนการผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์   ก็ถูกชักจูงให้ต่อต้านขัดขวางการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหาร  ที่เข้าไปช่วยเหลือพัฒนาชาวเขา  และต่อต้านขัดขวางชาวเขาที่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอยู่เสมอ   นอกจากนั้น   ชาวเขาที่ลุ่มหลงนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์   ยังใช้วิธีการลอบดักทำร้าย ลอบฆ่าผู้ที่ให้ข่าว และผู้ที่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่  พฤติการณ์ต่อต้านนี้รุนแรงเพิ่มขึ้นตามลำดับ

                           ตนกระทั่งปี พ.ศ.2511  การปฏิบัติงานของผู้ก่อการร้ายถึงขั้นการก่อวินาศกรรม   การใช้อาวุธลอบโจมตีเจ้าหน้าที่  พลเรือน  ตำรวจ  ทหาร  อย่างเปิดเผย และในวันที่  4  ธันวาคม  2511  กองกำลังผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ได้เข้ายึดหมู่บ้านหลายหมู่บ้าน  ในเขต อ.ด่านซ้าย  จ.เลย   ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่โดยใช้อาวุธ  ดังนั้นกองกำลังของกองกับการตำรวจตระเวนชายแดนเขต 4  และกองกำลังสนับสนุนจากกองทัพภาค 2 และ 3  จึงร่วมกันใช้กำลังเข้าปราบปราม   แต่กลับทำให้กำลังของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์แตกกระจายกันออกไป  และยึดพื้นที่หลบซ่อน  เพื่อเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์  และทำการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ต่อไป

                           ด้วยเหตุนี้   ลัทธิคอมมิวนิสต์จึงได้เริ่มแพร่กระจายไปสู่หมู่บ้านใกล้เคียง และบางหมู่บ้านในพื้นที่ราบในเขตอำเภออื่น ๆ  ของจังหวัดเลย  อีกทั้งยังมีการเคลื่อนไหวกระจายแนวความคิดออกไปอย่างกว้างขวาง


                           จากประสบการณ์นี้   ทำให้  พ.ต.อ.สมควร  หริกุล   ผู้กำกับการตำรวจตระเวนชายแดนเขต 4  ผู้รับผิดชอบพื้นที่ที่มีปัญหาข้างต้น   ระหนักถึงภัยคุกคาม และการขยายไปสู่กลุ่มชาวบ้านอื่นที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง  เนื่องจากบริเวณที่เป็นปัญหามีสภาพทุรกันดาร  อยู่ติดชายแดนใกล้กับฐานปฏิบัติการของประเทศลาว  ทำให้เจ้าหน้าที่อยู่ในลักษณะเสียเปรียบทางยุทธศาสตร์ล่อแหลมต่อการคุกคามของผู้การร้ายคอมมิวนิสต์ในอนาคต   ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ  เขต 4  และเขต 6  มีขีดจำกัดในการส่งกำลังบำรุง  แต่มีความเร่งด่วนที่จะต้องป้องกันพื้นที่ส่วนนี้ไว้ให้ได้   ดังนั้นจึงใช้วิธีสร้างประชาชนให้เกิดความรู้สึกผิดชอบต่อบ้านเมืองของตนร่วมกันกับตำรวจตระเวนชายแดน ด้วยมีเหตุผลหลัก  4  ประการ  คือ

  1. พัฒนารักษาพื้นที่ส่วนนี้ไว้มิให้ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ขยายอิทธิพลได้อย่างเสรี
  2. สร้างพื้นที่หมู่บ้านให้ประชาชนรู้จักการต่อต้านผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่รุกรานจากนอกประเทศ
  3. รักษาเส้นทางไว้มิให้ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์มีอิทธิพลเหนือรัฐบาล
  4. ป้องกันรักษาพื้นที่หมู่บ้านชายแดนไว้ก่อนที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์จะเผยแพร่ลัทธิลงสู่พื้นราบได้

                                ด้วยเหตุผล และประสบการณ์ที่ผ่านมา  กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน เขต 4 และเขต 6  จึงได้ร่วมกันพิจารณาแก้ปัญหา  โดยตกลงคัดเลือกชาวบ้านตามแนวชายแดนในพื้นที่   ตำบลแสงพา  ต.นาที   และบ้านบ่อภาค   ให้เข้ามารับการฝึกอบรมเป็น “อาสาสมัครชาวบ้านชายแดน” ทั้งนี้เพื่อให้ชาวบ้านชายแดนเกิดความหวงแหนในชาติบ้านเมือง เสียสละเพื่อประโยชน์สุข และความอยู่รอดของชาติ  ทั้งนี้ได้คัดเลือกชาวบ้านจากบ้านเหล่ากอหก   บ้านบ่อภาค  บ้านแสงพา  พื้นที่ละ 30  คน  รวม  90  คน มารับการฝึกอบรมที่กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 2   อ.ด่านซ้าย   จ.เลย  โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน   ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณค่าใช้จ่ายตลอดการฝึกอบรมประมาณ  2  เดือน

                                การฝึกอบรมมีลักษณะคล้ายคลึงกับการฝึกอาสาสมัครทั่ว ๆ ไป   แต่ปรากฏว่าในระหว่างการฝึกอบรม  ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้เรียกร้องสิทธิต่าง ๆ  หลายประการจนต้องหยุดการฝึกอบรม  แล้วทำความเข้าใจกันถึงเหตุผลที่แท้จริงของการเป็นอาสาสมัครชาวบ้านชายแดน  จากนั้นจึงสามารถดำเนินการฝึกอบรมต่อไปได้   โดยผู้ให้การฝึกอบรมต้องปรับปรุงแนวทางการฝึกอบรมใหม่ในทันที  โดยเริ่มปฏิบัติการจัดให้มีการอยู่ร่วมกัน  ทำกิจกรรมต่าง ๆ  ร่วมกัน  และเน้นหนักในด้านความรักชาติ ศาสนา  พระมหากษัตริย์  ระหว่างการฝึกอบรมได้สอดแทรกระบบหมู่ของกิจกรรมลูกเสือทดลองไว้ในการฝึกด้วย  จนทำให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีชีวิตชีวาขึ้น  เกิดความรักใคร่  สนิทสนมกลมเกลียวกันยิ่งขึ้น   ประกอบกับผู้ให้การฝึกอบรมได้ให้ความเป็นกันเองอย่างพี่น้อง  จึงทำให้ชาวบ้านชายแดนเกิดความอบอุ่นใจ  รู้สึกภูมิใจที่ตนเองได้เสียสละเพื่อความอยู่รอดของชาติ  การฝึกอบรมขั้นต้นผ่านไปด้วยความเรียบร้อย  เมื่อจบการฝึกอบรมมีการมอบหมายภารกิจให้ปฏิบัติในท้องถิ่นของตนเอง 

                                หลังจากที่อาสามสมัครชาวบ้านชายแดน  ได้กลับไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่แล้วโดยเรียกชื่อเป็น “ชาวบ้านรักษาชายแดน” (ชบ.ชด.) เป็นผู้คุ้มครองของตำบล  และทำการสำรวจชายแดน  ปรากฏว่ามีสามเหตุหลายประการที่ต้องล้มเลิกแนวการฝึกอบรมอาสาสมัครประเภทนี้  อันได้แก่

                                1.การติดอาวุธแก่ประชาชน  หากไม่สามารถควบคุมการปฏิบัติงานได้อย่างใกล้ชิดแล้ว  เปรียบเสมือนดาบสองคม

                                2.ประชานเมื่อได้รับการฝึกอาวุธแล้วเกิดข้อเปรียบเทียบว่า  ตนเองคือบุคคลสำคัญคนหนึ่ง  มีการตั้งข้อเรียกร้องต่าง ๆ  ขึ้นอีก  เช่น  ค่าเบี้ยเลี้ยง  ค่าพาหนะ  ค่าสวัสดิการต่าง ๆ   รวมไปถึงเครื่องแบบที่มีลักษณะคล้ายกับการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ

                                3.เรียกร้องสิทธิให้ตนเองได้เงินเดือน

                                4.หน่วยราชการอื่น   ทำโครงการในลักษณะคล้ายคลึงกัน  เช่น  ไทยอาสาสมัครรักษาดินแดน  ชุดคุ้มครองหมู่บ้าน  รักษาความปลอดภัยและอื่น ๆ  ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนทางความคิด  เกิดความไม่มั่นใจต่อทางราชการว่าตนเองควรยึดโครงการใดเป็นหลัก

                                ในที่สุดก็มีการยกเลิกการฝึกอบรมชาวบ้านรักษาชายแดนและปรับปรุงการฝึกอบรมใหม่เป็นการฝึกอบรมแบบ “ลูกเสือชาวบ้านชายแดน”(ต่อมาเปลี่ยนเป็น “ลูกเสือชาวบ้าน” และเน้นให้ยึดอาวุธทางความคิดเป็นหลัก  โดยมี  พ.ต.อ.สมควร  หริกุล  ผู้กำกับการตำรวจตระเวนชายแดน เขต 4 , นายวิโรจน์  พูลสุข  อดีตเขตการศึกษาที่ 9

จ.อุดรธานี , นายสมเกียรติ  พรหมสาขา  ณ  สกลนคร   ผู้ตรวจการกระทรวงศึกษาธิการ   พร้อมด้วยวิทยากรจากกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน เขต 4  และวิทยากรจากเขตการศึกษาที่ 9  เป็นผู้ริเริ่มร่วมกันจัดทำหลักสูตร   การฝึกอบรมทดลองขึ้น  จากนั้น พ.ต.อ.สมควร ฯ  จึงได้รวบรวมชุดชาวบ้านรักษาชายแดน และราษฎรหมู่บ้านใกล้เคียงจำนวน 125  คน เข้ารับการฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้านตามแนวคิดใหม่ระหว่างวันที่ 9-12 สิงหาคม 2514  ที่ศูนย์พัฒนาการโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน  บ้านเหล่ากอหก  กิ่ง อ.นาแห้ว  จ.เลย (ปัจจุบันเป็น อ.นาแห้ว)

                                การฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้านสมัยเริ่มแรก  ใช้วิธีการแนะนำและชักจูงรวบรวมเอาประชาชน และเอาจิตใจของประชาชนให้มารวมกันเป็นมิตร  เพื่อให้เขารวมกันเป็นหมู่คณะ  ดดยมีการใช้วิธีการและเอากิจกรรมของลูกเสือมาเสริมมาเสริมสร้างปลูกฝังนิสัยให้เขารักบ้านเมือง  รักถิ่นฐาน  รักหมู่คณะ  ร่วมกันทำกิจกรรม  ร่วมกันพัฒนาบ้าน  ที่อยู่อาศัย  ร่วมกันเสียสละ  ช่วยตนเอง  และประการสำคัญให้มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์  และการปกครองระบอบประชาธิปไตย

                                ผลการฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้านหลักสูตรทดลองปรากฏว่า  ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม  กล่าวคือสามารถใช้เป็นฐานในการต่อต้านและป้องกันอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างได้ผล   ดังนั้นการฝึกอบรมจึงได้แพร่ขยายไปยังจังหวัดต่าง ๆ   มีการส่งเจ้าหน้าที่จากหลายพื้นที่เข้ามาฝึกอบรม  เพื่อกลับไปเป็นวิทยากรลูกเสือชาวบ้านในท้องถิ่นของตนเอง

                                การฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้านรุ่นที่ 9   เมื่อวันที่ 25-29 พฤศจิกายน 2514  ที่บ้านทรายมูล  ต.อุ่มเหม้า 

อ.ธาตุพนม จ.นครพนม   มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมจำนวน  238 คน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี  ทรงเป็นองค์ประธานในพิธีปิด   นับเป็นพระองค์แรกที่มีพระมหากรุณาธิคุณต่อลูกเสือชาวบ้าน

                                เมื่อฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้านได้จำนวนหนึ่ง  พ.ต.อ.สมควร ฯ  จึงได้สรุปผลการฝึกอบรมเสนอต่อ  พล.ต.ท.สุรพล   จุลละพราหมณ์  ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน  ท่านได้ให้การสนับสนุนการฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้านเป็นอย่างดี  และได้มอบหมายให้  พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์  จำรัสโรมรัน  ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน  รวบรวมข้อมูลการฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้านโดยละเอียด

                                พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ ฯ  จึงได้ศึกษาและสังเกตการฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้านแล้วพิจารณาเห็นว่า  การฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้านมีประโยชน์และสร้างสรรค์   ความสามัคคีกลมเกลียวให้บังเกิดขึ้นในหมู่ข้าราชการพ่อค้า  นักธุรกิจ  และประชาชนทั่วไป  สามารถขจัดช่องว่างและเส้นขนานระหว่างข้าราชการกับประชาชนได้เป็นอย่างดี  ตรงกับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  และสมเด็จพระนางเจ้า น พระบรมราชินีนาถ  ในการสร้างความสามัคคีธรรมให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนชาวไทย

                                พล.ต.ท.สุรพล ฯ  จึงมอบหมายให้  พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ ฯ  นำเรื่องราวการฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้านโดยละเอียดขึ้นกราบบังคมทูล  พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว  ทรงทราบ

                                ต่อมาเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2515  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ  พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จ ฯ  ทอดพระเนตรกิจกรรมลูกเสือชาวบ้าน  ห่วงรัดผ้าผูกคอ และหน้าเสือ   และทรงรับกิจการลูกเสือชาวบ้านในพระบรมราชานุเคราะห์  ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

                                ต่อมาสภาลูกเสือแห่งชาติ  พิจารณาเห็นว่ากิจการลูกเสือชาวบ้านเป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง  และการพัฒนาชุมชนเพราะกิจการลูกเสือชาวบ้านเป็นการดำเนินการที่เผยแพร่กิจกรรมและวิธีการลูกเสือชาวบ้านเข้าสู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง  ในระบอบประชาธิปไตย  เพื่อยังประโยชน์ให้เกิดความรักความสามัคคี ความกลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่ประชาชน  ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของแต่ละบุคคล  นอกจากนั้นยังเป็นการช่วยพัฒนาสังคมโดยทั่วไป  โดยระบบหมู่ลูกเสือ  จึงได้ตกลงรับกิจการลูกเสือชาวบ้านเป็นส่วนหนึ่งของคณะลูกเสือแห่งชาติ  เมื่อ 5  กรกฎาคม 2516  และ ฯพณฯ นายอภัย  จันทวิมล  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ   ได้ตราข้อบังคับ  ฉบับที่ 6  ลง  5 กรกฎาคม  2516  ให้ผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัด เป็นผู้อำนวยการลูกเสือชาวบ้านโดยตำแหน่ง

  • ปรากฏว่าในปี 2518  ได้มีการฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้านครบทุกจังหวัด  สมดังพระราชประสงค์และยังมีการฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้านเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันมีประมาณ  5  ล้านคน
  • พ.ศ.2517 คณะกรรมการลูกเสือแห่งชาติได้ตราข้อบังคับลูกเสือแห่งชาติ  ฉบับที่ 8  ลง 7 ตุลาคม 2517  ว่าด้วยวัตถุประสงค์  หลักสูตร  เครื่องแบบวุฒิบัตร  บัตรประจำตัว  และธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้าน
  • พ.ศ.2521  ฯพณฯ พลเอกเกรียงศักดิ์   ชมะนันท์    นายกรัฐมนตรี   จึงออกคำสั่งที่  สร.75/2521  ลงวันที่ 18 เมษายน  2521  เรื่องการดำเนินการลูกเสือชาวบ้านในพระบรมราชานุเคราะห์   สรุปได้ดังนี้

  1. ให้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการลูกเสือชาวบ้านขึ้นโดยมีสำนักงานอยู่ภายในบริเวณกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน
  2. ศูนย์ปฏิบัติการลูกเสือชาวบ้าน  มีหน้าที่เป็นศูนย์รวมของลูกเสือชาวบ้านทั่วราชอาณาจักร
  3. ศูนย์ปฏิบัติการลูกเสือ  ขึ้นตรงต่อสภาลูกเสือแห่งชาติ
  4. ให้ พลตำรวจตรี เจริญฤทธิ์  จำรัสโรมรัน   เป็นผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการลูกเสือชาวบ้าน

ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2534 ได้มีคำสั่ง ฯพณฯ นายอานัท์  ปัญญรชุน นายกรัฐมนตรีที่ สร.205/2534  ลง 6มิถุนายน 2534 แต่งตั้งให้ พล.ต.ท.สมควร  หริกุล  เป็นผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติลูกเสือชาวบ้าน