หมวดที่ 10 – ที่ปรึกษาและผู้ตรวจสอบกิจการ

ที่ปรึกษาและผู้ตรวจสอบกิจการ

ข้อ 108  ที่ปรึกษา คณะกรรมการดำเนินการอาจเชิญบุคคลภายนอกซึ่งทรงคุณวุฒิมีความรู้ความสามารถและเหมาะสมเป็นที่ปรึกษาของสหกรณ์ เพื่อให้ความเห็นแนะนำในการดำเนินงานทั่วไปของสหกรณ์ จำนวนไม่เกินห้าคน  ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบของสหกรณ์

 ผลประโยชน์และค่าตอบแทนหรือค่าใช้จ่ายที่มีชื่อเรียกเป็นอย่างอื่น ของผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นที่ปรึกษาซึ่งจะต้องได้รับให้อยู่ภายใต้งบประมาณรายจ่ายที่ได้รับอนุมัติต่อที่ประชุมใหญ่ และจะต้องแสดงไว้ในรายงานประจำปีและเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ทราบเป็นรายบุคคล

ผู้ตรวจสอบกิจการ

ข้อ 109  ผู้ตรวจสอบกิจการ  ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งสมาชิกหรือบุคคลภายนอกซึ่งเป็น                     บุคคลธรรมดา และเป็นผู้ที่มีคุณวุฒิความรู้ความสามารถในด้านการเงิน การบัญชี  การบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ การสหกรณ์ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์ และมีคุณสมบัติเป็นผู้ผ่านการอบรมการตรวจสอบกิจการจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ หรือหน่วยงานอื่นที่ได้รับการรับรองหลักสูตรจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ รวมทั้งไม่มีลักษณะต้องห้ามตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ เป็นผู้ตรวจสอบกิจการของสหกรณ์ จำนวนสองคน

ข้อ 110 ขั้นตอนและวิธีการเลือกตั้งผู้ตรวจสอบกิจการ  ให้คณะกรรมการดำเนินการประกาศขั้นตอนและวิธีการเลือกตั้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้สมาชิกทราบก่อนวันประชุมใหญ่ และให้ประกาศรับสมัครบุคคลเข้ารับการเลือกตั้งเป็นผู้ตรวจสอบกิจการก่อนวันประชุมใหญ่ และพิจารณาคัดเลือก                    ผู้ตรวจสอบกิจการที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์กำหนด เพื่อนำเสนอชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเสนอให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งตามประกาศ  โดยผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็นผู้ตรวจสอบกิจการต้องแสดงตนต่อที่ประชุมใหญ่ด้วย และให้ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งคะแนนสูงสุดเป็นผู้ตรวจสอบกิจการ  หากมีคะแนนเท่ากันให้ประธานออกเสียงเพิ่มอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด               ทั้งนี้ ให้ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งลำดับคะแนนรองลงมาเป็นผู้ตรวจสอบกิจการสำรอง จำนวนหนึ่งคน

กรณีมีผู้ตรวจสอบกิจการคนใดต้องขาดจากการเป็นผู้ตรวจสอบกิจการตามข้อ 112 (2) (3) (4) หรือ (5) ให้ผู้ตรวจสอบกิจการสำรองเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้ทันทีเท่าระยะเวลาที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน หรือจนกว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ตรวจสอบกิจการใหม่

ข้อ 111 การดำรงตำแหน่งผู้ตรวจสอบกิจการ  ผู้ตรวจสอบกิจการอยู่ในตำแหน่งได้มีกำหนดเวลาสองปีบัญชีสหกรณ์ เมื่อครบกำหนดเวลาแล้วยังไม่มีการเลือกตั้งผู้ตรวจสอบกิจการคนใหม่ ก็ให้ผู้ตรวจสอบกิจการคนเดิมปฏิบัติหน้าที่อยู่ต่อไปจนกว่าที่ประชุมใหญ่มีมติเลือกตั้งผู้ตรวจสอบกิจการคนใหม่

ผู้ตรวจสอบกิจการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจจะได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่อีกได้แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน  

กรณีผู้ตรวจสอบกิจการขาดจากการเป็นผู้ตรวจสอบกิจการก่อนครบวาระ ให้กำหนดระเบียบวาระการประชุมใหญ่  เพื่อเลือกตั้งผู้ตรวจสอบกิจการคนใหม่ในคราวประชุมใหญ่ครั้งแรกหลังจากผู้ตรวจสอบกิจการคนนั้นขาดจากการเป็นผู้ตรวจสอบกิจการ และนับวาระการดำรงตำแหน่งของผู้แทนต่อเนื่องจากผู้ที่ตนมาดำรงตำแหน่ง 

ข้อ 112 การขาดจากการเป็นผู้ตรวจสอบกิจการ ผู้ตรวจสอบกิจการต้องขาดจากการเป็นผู้ตรวจ

สอบกิจการเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) พ้นจากตำแหน่งตามวาระ

(2) ตาย

(3) ลาออก  โดยแสดงเหตุผลเป็นหนังสือยื่นต่อประธาน คณะกรรมการดำเนินการและให้มีผลวันที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์มีมติรับทราบ

(4) ที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ลงมติถอดถอนผู้ตรวจสอบกิจการซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ออกจากตําแหน่งทั้งคณะหรือรายบุคคล 

(5) อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์วินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์กำหนด  

ข้อ 113  อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจสอบกิจการ    ผู้ตรวจสอบกิจการมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงานทั้งปวงของสหกรณ์ ทั้งด้านการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี และด้านปฏิบัติการในการดำเนินธุรกิจตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของสหกรณ์ รวมทั้ง การประเมินผลการควบคุมภายใน การรักษาความปลอดภัยของข้อมูลสารสนเทศของสหกรณ์ และการตรวจสอบในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

(1) ตรวจสอบความถูกต้องของการบันทึกบัญชี   เพื่อให้เป็นไปตามแบบและรายการที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด

(2) ประเมินความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลการดำเนินงานของคณะกรรมการดำเนิน

การเพื่อให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในการปรับปรุงการบริหารงานของคณะกรรมการดำเนินการให้เป็นไป

ตามกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบของสหกรณ์

(3) สอบทานระบบการปฏิบัติงานของสหกรณ์ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ข้อบังคับ และระเบียบของสหกรณ์ รวมทั้งคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ สำนักงานสหกรณ์จังหวัด สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ กำหนดให้ต้องปฏิบัติ

(4) ตรวจสอบและสอบทานระบบการควบคุม ดูแลรักษาทรัพย์สินของสหกรณ์ วิเคราะห์และประเมินความมีประสิทธิภาพการใช้ทรัพย์สินของสหกรณ์ เพื่อให้การใช้ทรัพย์สินเป็นไปอย่างเหมาะสมและคุ้มค่า

(5) ตรวจสอบและติดตามการดำเนินงานของสหกรณ์ในการพิจารณาแก้ไข ข้อสังเกตหรือข้อบกพร่องเกี่ยวกับการดำเนินงานที่ได้รับแจ้งจากสำนักงานสหกรณ์จังหวัด สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ หรือผู้สอบบัญชี

ข้อ 114 การรายงานผลการตรวจสอบ  ให้ผู้ตรวจสอบกิจการมีหน้าที่รายงานผลการตรวจสอบเป็นลายลักษณ์อักษรประจำเดือนและประจำปี  เพื่อสรุปผลการตรวจสอบรวมทั้งข้อสังเกตข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ และเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการดำเนินการเพื่อแจ้งผลการตรวจสอบประจำเดือนที่ผ่านมา  เข้าร่วม

ประชุมใหญ่เพื่อรายงานผลการตรวจสอบประจำปีเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ด้วย

กรณีพบว่ามีเหตุการณ์ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย แก่สหกรณ์หรือสมาชิก หรือสหกรณ์มีการปฏิบัติไม่เป็นไป  ตามกฎหมาย  ระเบียบ  คําสั่ง  ประกาศหรือคําแนะนําของทางราชการ รวมทั้งข้อบังคับ ระเบียบ  มติที่ประชุมหรือคําสั่งของสหกรณ์ที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่สมาชิกหรือสหกรณ์อย่างร้ายแรง ให้แจ้งผลการตรวจสอบกิจการต่อคณะกรรมการดําเนินการทันทีเพื่อดําเนินการแก้ไข และให้จัดส่งสําเนารายงานดังกล่าวต่อสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ และสำนักงานสหกรณ์จังหวัดโดยเร็ว

ให้ผู้ตรวจสอบกิจการติดตามผลการดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่อง ข้อสังเกต และให้รายงานผลการติดตามการแก้ไขข้อบกพร่อง ข้อสังเกตของสหกรณ์ไว้ในรายงานผลการตรวจสอบกิจการด้วย

ข้อ 115 ความรับผิดของผู้ตรวจสอบกิจการ  กรณีผู้ตรวจสอบกิจการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ หรือประพฤติผิดจริยธรรมในการปฏิบัติงานจนเป็นเหตุให้สหกรณ์ได้รับความเสียหาย ผู้ตรวจสอบกิจการต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สหกรณ์ หรือหากตรวจพบข้อบกพร่องของสหกรณ์ต้องแจ้งให้คณะกรรมการดำเนินการทราบโดยเร็ว และผู้ตรวจสอบกิจการต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายอันจะเกิดแก่สหกรณ์ด้วยเหตุไม่แจ้งนั้น

การพิจารณาความรับผิดของผู้ตรวจสอบกิจการให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมใหญ่

ข้อ 116  สหกรณ์มีหน้าที่ต่อผู้ตรวจสอบกิจการดังนี้

(1) อำนวยความสะดวก ให้ความร่วมมือแก่ผู้ตรวจสอบกิจการ ในการให้คำชี้แจงตอบข้อซักถามต่าง ๆ พร้อมทั้งจัดเตรียมข้อมูล เอกสารหลักฐานประกอบการบันทึกบัญชีของสหกรณ์ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบกิจการ

(2) กำหนดระเบียบวาระการประชุมให้ผู้ตรวจสอบกิจการรายงานผลการตรวจสอบกิจการประจำเดือนและจัดทำหนังสือเชิญให้ผู้ตรวจสอบกิจการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ทุกครั้ง

(3) พิจารณาปฏิบัติตามข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของ  ผู้ตรวจสอบกิจการ เพื่อให้การดำเนินกิจการของสหกรณ์เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับของสหกรณ์