หมวดที่ 4 – การดำเนินงาน

การดำเนินงาน

ข้อ 12 การรับฝากเงิน   สหกรณ์อาจรับฝากเงินประเภทออมทรัพย์หรือประเภทประจำจากสมาชิกหรือสหกรณ์อื่นหรือสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ซึ่งมีสมาชิกของสมาคมนั้นไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเป็นสมาชิกของสหกรณ์หรือนิติบุคคลซึ่งมีบุคลากรหรือลูกจ้างไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของนิติบุคคลนั้นเป็นสมาชิกของสหกรณ์  ทั้งนี้ ตามระเบียบของสหกรณ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์

ข้อกำหนดเกี่ยวกับการรับฝาก ดอกเบี้ย การถอนเงินฝากและอื่น ๆ ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้และเป็นไปตามระเบียบของสหกรณ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์

ให้สหกรณ์ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

การให้เงินกู้

ข้อ 13 การให้เงินกู้ สหกรณ์อาจให้เงินกู้แก่

(1) สมาชิกของสหกรณ์

(2) สหกรณ์อื่น

การให้เงินกู้แก่สมาชิกนั้น ให้คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยให้เงินกู้ได้ตามข้อบังคับนี้และตามระเบียบของสหกรณ์

ข้อกำหนดต่าง ๆ เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การพิจารณาวินิจฉัยให้เงินกู้ ประเภทและวงเงินให้กู้ หลักประกันสำหรับเงินกู้  ลำดับแห่งการให้เงินกู้  การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ การส่งเงินงวดชำระหนี้ การควบคุมหลักประกัน การเรียกคืนเงินกู้ การสอบทานกระบวนการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมด้านสินเชื่อหรือการให้เงินกู้ และอื่น ๆ ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์

การให้เงินกู้แก่สหกรณ์อื่นนั้น คณะกรรมการดำเนินการจะพิจารณาให้กู้ได้ต่อเมื่อสหกรณ์มีเงินทุนเหลือจากการให้เงินกู้แก่สมาชิกแล้ว ตามระเบียบของสหกรณ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์

สมาชิกหรือสหกรณ์อื่นซึ่งประสงค์จะขอกู้เงินจากสหกรณ์นี้  ต้องเสนอคำขอกู้ตามแบบและระเบียบของสหกรณ์ที่กำหนดไว้

ข้อ 14 วัตถุประสงค์แห่งเงินกู้  เงินกู้ซึ่งให้แก่สมาชิกไม่ว่าประเภทใด ๆ จะให้ได้แต่เฉพาะเพื่อการอันจำเป็นหรือมีประโยชน์ตามที่คณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควร

ให้คณะกรรมการดำเนินการสอดส่อง และกวดขันการใช้เงินกู้ของสมาชิกให้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ให้เงินกู้นั้น

ข้อ 15 ประเภทแห่งเงินกู้ สหกรณ์อาจให้เงินกู้แก่สมาชิกได้ตามประเภทดังต่อไปนี้

(1) เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน  ในกรณีที่สมาชิกมีเหตุฉุกเฉินหรือเหตุอันจำเป็นรีบด่วน และมีความประสงค์ขอกู้เงิน คณะกรรมการดำเนินการอาจให้เงินกู้เพื่อเหตุนั้นได้ตามระเบียบของสหกรณ์

(2) เงินกู้สามัญ  ในกรณีที่สมาชิกมีความประสงค์ขอกู้เงินสำหรับใช้จ่าย เพื่อการอันจำเป็นหรือมีประโยชน์ต่าง ๆ คณะกรรมการดำเนินการอาจพิจารณาให้เงินกู้สามัญแก่สมาชิกนั้นได้ตามระเบียบของ สหกรณ์

(3) เงินกู้พิเศษ  เมื่อสหกรณ์มีฐานะการเงินก้าวหน้าพอที่จะช่วยเหลือให้เงินกู้ เพื่อส่งเสริมฐานะความมั่นคงหรือเพื่อการเคหะหรือก่อประโยชน์งอกเงยแก่สมาชิกได้ คณะกรรมการดำเนินการอาจให้เงินกู้พิเศษแก่สมาชิกนั้นได้ตามที่เห็นสมควร โดยผู้กู้ต้องระบุวัตถุประสงค์แต่ละอย่างของเงินกู้ประเภทนี้ ตลอดจนเงื่อนไขและวิธีการ และต้องมีหลักประกันตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์

ข้อ 16 ดอกเบี้ยเงินกู้  ให้สหกรณ์เรียกดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทที่ให้แก่สมาชิก  ในอัตราตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์

ข้อ 17 การควบคุมหลักประกันและการเรียกคืนเงินกู้   ให้คณะกรรมการดำเนินการตรวจตราควบคุมให้เงินกู้ทุกรายมีหลักประกันตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์  และเมื่อคณะกรรมการดำเนินการเห็นว่าหลักประกันสำหรับเงินกู้รายใดบกพร่อง ผู้กู้จะต้องจัดการแก้ไขให้คืนดีภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด

ในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเงินกู้ไม่ว่าประเภทใด ๆ เป็นอันถึงกำหนดส่งคืนโดยสิ้นเชิง พร้อมทั้งดอกเบี้ยในทันที โดยมิพักต้องคำนึงถึงกำหนดเวลาที่ให้ไว้ และให้คณะกรรมการดำเนินการจัดการเรียกคืนโดยมิชักช้า

(1) เมื่อสมาชิกผู้กู้ออกจากสหกรณ์ไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ

(2) เมื่อปรากฏต่อคณะกรรมการดำเนินการว่าผู้กู้นำเงินกู้ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ที่ให้เงินกู้นั้น

(3) เมื่อคณะกรรมการดำเนินการเห็นว่าหลักประกันสำหรับเงินกู้รายใดเกิดบกพร่องและผู้กู้ มิได้จัดการแก้ไขให้คืนดีภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด

(4) เมื่อผิดนัดชำระหนี้ไม่ว่าต้นเงินหรือดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นเวลาถึงสองเดือน หรือผิดนัดการส่งเงินงวดชำระหนี้ดังว่านั้นถึงสามคราวสำหรับเงินกู้รายหนึ่ง ๆ

ในกรณีที่ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดชำระหนี้แทนผู้กู้ตามที่กล่าวในวรรคก่อน และไม่สามารถชำระหนี้นั้นโดยสิ้นเชิงได้เมื่อผู้ค้ำประกันร้องขอ คณะกรรมการดำเนินการอาจผ่อนผันให้ผู้ค้ำประกันชำระเป็นงวดรายเดือนจนครบจำนวนเงินกู้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินจำนวนงวดสำหรับเงินกู้ประเภทนั้น ๆ

ข้อ 18 ความผูกพันของผู้กู้และผู้ค้ำประกัน  ผู้กู้หรือผู้ค้ำประกันต้องรับผูกพันว่า ถ้าตนประสงค์จะขอโอน  หรือย้าย หรือลาออกราชการ หรืองานประจำตามข้อ 34(3) จะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้สหกรณ์ทราบและจัดการชำระ หนี้สินซึ่งตนมีอยู่ต่อสหกรณ์ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน (เว้นแต่กรณี ที่ยังคงเป็นสมาชิกอยู่)

การฝากหรือการลงทุนของสหกรณ์

ข้อ 19 การฝากหรือการลงทุนของสหกรณ์  เงินของสหกรณ์นั้นสหกรณ์อาจฝากหรือลงทุนได้ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์และตามที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติกำหนด โดยให้คำนึงถึงความมั่นคงและประโยชน์สูงสุดที่สหกรณ์หรือสมาชิกจะได้รับ

การกู้ยืมเงินหรือการค้ำประกัน

ข้อ 20 วงเงินการกู้ยืมหรือการค้ำประกัน  ให้ที่ประชุมใหญ่กำหนดวงเงินการกู้ยืมหรือการค้ำประกันสำหรับปีหนึ่ง ๆ ไว้ตามที่จำเป็นและสมควรแก่การดำเนินงาน วงเงินซึ่งกำหนดดังว่านี้ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายว่าด้วยสหกรณ์กำหนดไว้และได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์

ข้อ 21 การกู้ยืมเงินหรือการค้ำประกัน  สหกรณ์อาจกู้ยืมเงินหรือออกตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือโดยวิธีอื่นใดสำหรับใช้เป็นทุนดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ได้ตามที่คณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควร ทั้งนี้ จะต้องอยู่ภายในวงเงินการกู้ยืมหรือการค้ำประกันประจำปีตามข้อ 20

การเงินและการบัญชีของสหกรณ์

ข้อ 22 การลงลายมือชื่อแทนสหกรณ์  การลงลายมือชื่อเพื่อให้มีผลผูกพันสหกรณ์ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เว้นแต่จะกำหนดไว้เป็นพิเศษตามข้อบังคับนี้ ให้ปฏิบัติดังนี้

(1) หนังสือกู้ยืมซึ่งสหกรณ์เป็นผู้กู้ยืม ตลอดจนการเบิกหรือรับเงินกู้ การจำนองซึ่ง สหกรณ์เป็นผู้จำนอง การถอนเงินฝากของสหกรณ์และในนิติกรรมอื่น ๆ จะต้องลงลายมือชื่อของประธานกรรมการ หรือรองประธานกรรมการ หรือเลขานุการหรือเหรัญญิกหรือกรรมการผู้ที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมายกับผู้จัดการรวมเป็นสองคน

(2) การรับฝากเงิน  ใบรับเงิน และเอกสารทั้งปวงนอกจากที่กล่าวไว้ใน (1) ข้างบนนี้จะต้องลงลายมือชื่อของผู้จัดการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย

อนึ่ง  ในหนังสือกู้ยืมซึ่งสหกรณ์เป็นผู้กู้ยืม ใบรับเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงินของสหกรณ์นั้นต้องประทับตราของสหกรณ์ (ถ้ามี) เป็นสำคัญด้วย

ข้อ 23 การเงินของสหกรณ์  คณะกรรมการดำเนินการต้องดำเนินการในทางอันสมควรเพื่อให้การเงินของสหกรณ์เป็นไปโดยเรียบร้อยและเกิดประโยชน์แก่สหกรณ์ ซึ่งรวมทั้งในข้อต่อไปนี้

(1) การรับจ่ายและเก็บรักษาเงินของสหกรณ์ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์

(2) การรับจ่ายเงินของสหกรณ์ต้องกระทำที่สำนักงานของสหกรณ์เท่านั้น เว้นแต่มีกรณีอันจำเป็นที่ไม่อาจปฏิบัติได้ ให้คณะกรรมการดำเนินการพิจารณากำหนดวิธีปฏิบัติได้ตามสมควร

ข้อ 24 การบัญชีของสหกรณ์  คณะกรรมการดำเนินการมีหน้าที่ทำบัญชีตามแบบและรายการที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด และเก็บรักษาบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไว้ที่สำนักงานสหกรณ์ภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด

ให้บันทึกรายการในบัญชีเกี่ยวกับกระแสเงินสดของสหกรณ์ในวันที่เกิดเหตุนั้น สำหรับเหตุอื่นที่ไม่เกี่ยวกับกระแสเงินสดให้บันทึกรายการในสมุดบัญชีภายในสามวันนับแต่วันที่มีเหตุอันจะต้องบันทึกรายการนั้น และการลงบัญชีต้องมีเอกสารประกอบการลงบัญชีที่สมบูรณ์โดยครบถ้วน

ให้สหกรณ์จัดทำงบการเงินประจำปีทุกรอบปีทางบัญชีของสหกรณ์ ซึ่งต้องมีรายการแสดงสินทรัพย์  หนี้สิน  และทุนของสหกรณ์  กับทั้งบัญชีกำไรขาดทุน  ตามแบบที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด วันสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์ให้สิ้นสุด  ณ วันที่ 30 กันยายน ของทุกปี

ข้อ 25  การเสนองบการเงินประจำปีต่อที่ประชุมใหญ่  คณะกรรมการดำเนินการต้องนำเสนองบการเงินประจำปีซึ่งผู้สอบบัญชีได้ตรวจสอบแล้วเพื่ออนุมัติในที่ประชุมใหญ่  ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชี

คณะกรรมการดำเนินการจัดทำรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์เสนอต่อที่ประชุมใหญ่ในคราวที่เสนองบการเงินประจำปี และส่งสำเนารายงานประจำปีกับกับงบการเงินประจำปีไปยังนายทะเบียนสหกรณ์ภายในสามสิบ วันนับแต่วันที่มีการประชุมใหญ่

อนึ่ง สหกรณ์ต้องเก็บรักษารายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานงบการเงินประจำปีพร้อมทั้งข้อบังคับ ระเบียบ และกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ไว้ ณ สำนักงานของสหกรณ์เพื่อให้สมาชิกขอตรวจดูได้โดยไม่ต้องเสีย ค่าธรรมเนียม

ข้อ 26 ทะเบียนและเอกสารของสหกรณ์   สหกรณ์ต้องจัดทำทะเบียนสมาชิก ทะเบียนหุ้น ซึ่งทะเบียนดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีชื่อ  เลขบัตรประจำตัวประชาชน  สัญชาติ  ที่อยู่ของสมาชิก  และรายการเกี่ยวกับการถือหุ้นของสมาชิก และจัดทำสมุดรายงานการประชุมใหญ่  การประชุมคณะกรรมการดำเนินการ  การประชุมคณะกรรมการอื่น  ตลอดจนทะเบียนอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควรให้มีขึ้น

สหกรณ์ต้องส่งสำเนาทะเบียนสมาชิก และทะเบียนหุ้นแก่นายทะเบียนสหกรณ์ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่จดทะเบียน

ให้สหกรณ์รายงานการเปลี่ยนแปลงรายการในทะเบียนสมาชิก หรือทะเบียนหุ้นต่อนายทะเบียนสหกรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์

สมาชิกอาจขอตรวจดูเอกสารดังกล่าวในวรรคแรกก่อนได้ ณ สำนักงานของสหกรณ์ในระหว่างเวลาทำงาน แต่จะดูบัญชีหรือทะเบียนเกี่ยวกับเงินค่าหุ้น เงินฝาก หรือเงินกู้ของสมาชิกรายอื่นไม่ได้ นอกจากจะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือของสมาชิกนั้นและได้รับอนุญาตจากผู้จัดการก่อน

การตรวจสอบบัญชีและการกำกับดูแลสหกรณ์

ข้อ 27 การตรวจสอบบัญชี  บัญชีของสหกรณ์นั้นต้องได้รับการตรวจสอบอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งตามมาตรฐานการสอบบัญชีที่รับรองทั่วไปและตามระเบียบที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์กำหนด โดยผู้สอบบัญชีซึ่งกรมตรวจบัญชีสหกรณ์แต่งตั้ง

ข้อ 28 การกำกับดูแลสหกรณ์  คณะกรรมการดำเนินการ คณะกรรมการอื่น คณะอนุกรรมการ ผู้ตรวจสอบกิจการ ผู้จัดการ เจ้าหน้าที่ สมาชิกสหกรณ์ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์ ซึ่งได้รับคำสั่งจากนายทะเบียนสหกรณ์ รองนายทะเบียนสหกรณ์ ผู้ตรวจการสหกรณ์ ผู้สอบบัญชี หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมาย ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์ หรือให้ส่งเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินงาน หรือรายงานการประชุม หรือเข้ามาตรวจสอบในสำนักงานของสหกรณ์ระหว่างเวลาทำงานของสหกรณ์

ให้ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องตามความในวรรคแรก ปฏิบัติตามคำสั่งและอำนวยความสะดวกให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งให้คำชี้แจงตามสมควร

ข้อ 29  การส่งรายการหรือรายงาน   สหกรณ์ต้องส่งรายการหรือรายงานเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์ต่อหน่วยงานที่กำกับดูแลตามแบบรายการและระยะเวลาที่หน่วยงานนั้นหรือตามที่กฎหมายกำหนดไว้

กำไรสุทธิประจำปี

ข้อ 30 การจัดสรรกำไรสุทธิประจำปี  เมื่อสิ้นปีทางบัญชีและได้ปิดบัญชีตามมาตรฐานการสอบบัญชีที่รับรองโดยทั่วไปและระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์แล้ว ปรากฏว่าสหกรณ์มีกำไรสุทธิ ให้จัดสรรเป็นทุนสำรองไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของกำไรสุทธิ และเป็นค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์แห่ง

ประเทศไทยตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

กำไรสุทธิประจำปีที่เหลือจากการจัดสรรตามความในวรรคก่อนนั้น ที่ประชุมใหญ่อาจจะจัดสรรได้ ดังต่อไปนี้

(1) เป็นเงินปันผลตามหุ้นที่ชำระแล้วให้แก่สมาชิก แต่ต้องไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยคิดให้ตามส่วนแห่งระยะเวลา อนึ่ง ถ้าสหกรณ์ถอนทุนรักษาระดับอัตราเงินปันผลตาม (4) ออกจ่ายเป็นเงินปันผลสำหรับปีใดด้วยจำนวนเงินปันผลทั้งสิ้นที่จ่ายสำหรับปีนั้นก็ต้องไม่เกินอัตราดังกล่าวมาแล้ว

(2) เป็นเงินเฉลี่ยคืนให้แก่สมาชิกตามส่วนธุรกิจที่สมาชิกได้ทำไว้กับสหกรณ์ในระหว่างปี เว้นแต่สมาชิกที่ผิดนัดการชำระหนี้สหกรณ์ มิให้ได้รับเงินเฉลี่ยคืน สำหรับงวดที่ผิดนัดนั้น

(3) เป็นเงินโบนัสแก่กรรมการและเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิ

(4) เป็นทุนรักษาระดับอัตราเงินปันผล ไม่เกินร้อยละสองแห่งทุนเรือนหุ้นของสหกรณ์ตามที่มีอยู่ในวันสิ้นปีนั้น ทุนรักษาระดับอัตราเงินปันผลนี้จะถอนได้โดยมติแห่งที่ประชุมใหญ่เพื่อจ่ายเป็นเงินปันผลตามหุ้นตาม (1) และห้ามจ่ายทุนนี้หากสหกรณ์ขาดทุนอันเกิดจากเหตุทุจริต

(5) เป็นทุนการศึกษาอบรมทางสหกรณ์ไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิ

(6) เป็นทุนสาธารณประโยชน์ไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิ

(7) เป็นทุนสวัสดิการและการสงเคราะห์ตามสมควรแก่สมาชิกและครอบครัว ไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิ

(8) เป็นทุนเพื่อจัดตั้งสำนักงาน ไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิ

(9) เป็นทุนช่วยเหลือผู้ค้ำประกันเงินกู้

(10) กำไรสุทธิส่วนที่เหลือ (ถ้ามี) ให้จัดสรรเป็นทุนสำรองทั้งสิ้น

การใช้จ่ายทุนตามวรรคก่อน ให้เป็นไปตามระเบียบของสหกรณ์และให้กำหนดระเบียบสำหรับแต่ละทุนเป็นการเฉพาะ

ทุนสำรอง

ข้อ 31 ที่มาแห่งทุนสำรอง นอกจากจัดสรรจากกำไรสุทธิตามข้อ 30 แล้ว บรรดาเงินอุดหนุนหรือทรัพย์สินที่มีผู้ยกให้แก่สหกรณ์ ถ้าผู้ยกให้มิได้กำหนดว่าให้ใช้เพื่อการใด ให้นำเงินอุดหนุนหรือทรัพย์สินนั้นสมทบเป็นทุนสำรองของสหกรณ์

จำนวนเงินซึ่งสหกรณ์พึงจ่ายแก่บุคคลใดก็ตาม ถ้าไม่มีการเรียกร้องจนพ้นกำหนดอายุความก็ให้สมทบจำนวนเงินนั้นเป็นทุนสำรอง

กำไรสุทธิประจำปีของสหกรณ์ซึ่งคณะกรรมการดำเนินการเสนอแนะให้ที่ประชุมใหญ่จัดสรรตามข้อ 30 หาก ที่ประชุมใหญ่พิจารณาแล้วเห็นว่ารายการใดไม่สมควรจัดสรรหรือตัดจำนวนให้น้อยลงก็ดี หรือปรากฎว่าจำนวนที่จัดสรรไปแล้วไม่ถูกต้องหรือขัดต่อกฎหมาย ยอดเงินจำนวนดังกล่าวให้สมทบเป็นทุนสำรองทั้งสิ้น

ข้อ 32 สภาพแห่งทุนสำรอง  ทุนสำรองย่อมเป็นของสหกรณ์โดยส่วนรวม สมาชิกจะแบ่งปันกันไม่ได้ หรือจะเรียกร้องแม้ส่วนใดส่วนหนึ่งก็ไม่ได้

ทุนสำรองนี้จะถอนจากบัญชีได้เพื่อชดเชยการขาดทุนอันหากบังเกิดขึ้น หรือเพื่อจัดสรรเข้าบัญชีทุนสำรองให้แก่สหกรณ์ใหม่ที่ได้จดทะเบียนแบ่งแยกจากสหกรณ์เดิม