หมวดที่ 7 – การประชุมใหญ่

การประชุมใหญ่

ข้อ 65 การประชุมใหญ่สามัญ  ให้คณะกรรมการดำเนินการเรียกประชุมปีละหนึ่งครั้งภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์

ข้อ 66 การประชุมใหญ่วิสามัญ สหกรณ์สามารถจัดการประชุมใหญ่วิสามัญได้ด้วยเหตุดังนี้

(1) คณะกรรมการดำเนินการจะเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อใดก็ได้เมื่อมีเหตุอันสมควร

(2) นายทะเบียนสหกรณ์มีหนังสือแจ้งให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญ

(3) สหกรณ์ขาดทุนเกินกึ่งของจำนวนทุนเรือนหุ้นที่ชำระแล้ว เพื่อพิจารณาแผนปรับปรุงการดำเนินงาน และต้องเรียกโดยไม่ชักช้า แต่ไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่สหกรณ์ทราบ

(4) สมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดหรือไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคนหรือผู้แทนสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนผู้แทนสมาชิกทั้งหมดหรือไม่น้อยกว่าห้าสิบคนลงลายมือชื่อ ทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการดำเนินการให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญ

คณะกรรมการดำเนินการต้องเรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายในสามสิบวันนับแต่วันที่รับคำร้องขอ ถ้าคณะกรรมการดำเนินการไม่เรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้นายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่วิสามัญได้ภายในระยะเวลาที่เห็นสมควร

ข้อ 67 การประชุมใหญ่โดยผู้แทนสมาชิก   กรณีที่สหกรณ์มีสมาชิกเกินกว่า 1,000 คน ให้การประชุมใหญ่ประกอบด้วยผู้แทนสมาชิกเท่านั้น

ข้อ 68 การเลือกตั้งและการดำรงตำแหน่งผู้แทนสมาชิก

(1) สมาชิกเท่านั้นมีสิทธิได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนสมาชิก และให้ดำเนินการเลือกตั้งตามระเบียบของสหกรณ์

(2) การเลือกตั้งผู้แทนสมาชิกคราวหนึ่ง ๆ ให้กระทำในที่ประชุมกลุ่มก่อนการประชุมใหญ่สามัญของสหกรณ์ไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และให้ประธานกลุ่มหรือเลขานุการกลุ่ม (ถ้ามี) หรือตัวแทนกลุ่มแจ้งรายชื่อผู้แทนสมาชิกในกลุ่มของตนต่อสหกรณ์โดยมิชักช้า

(3) ให้ที่ประชุมกลุ่มดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนสมาชิก  โดยอัตราส่วนจำนวนสมาชิกสิบคนต่อผู้แทนสมาชิกหนึ่งคน ถ้าเศษของอัตราส่วนดังกล่าวเกินกึ่งให้เลือกตั้งผู้แทนสมาชิกเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน ในจำนวนนี้ให้ประธานกลุ่ม (ถ้ามี) หรือกรรมการดำเนินการเป็นผู้แทนสมาชิกโดยตำแหน่ง โดยให้นับรวมอยู่ในจำนวนผู้แทนสมาชิกที่กลุ่มพึงเลือกตั้งได้

อนึ่ง จำนวนผู้แทนสมาชิกจะมีน้อยกว่าหนึ่งร้อยคนไม่ได้

(4) ให้ผู้แทนสมาชิกอยู่ในตำแหน่งคราวละหนึ่งปีทางบัญชีของสหกรณ์ ถ้ายังไม่มีการเลือกตั้งผู้แทนสมาชิกใหม่ ก็ให้ผู้แทนสมาชิกคนเดิมอยู่ในตำแหน่งต่อไปพลางก่อน

กรณีที่ผู้แทนสมาชิกเป็นกรรมการดำเนินการ  หากยังไม่พ้นจากตำแหน่งกรรมการดำเนินการให้ถือเป็นผู้แทนสมาชิกและให้นับรวมเป็นผู้แทนสมาชิกในกลุ่มที่ตนสังกัดในปีบัญชีถัดไป

ข้อ 69  การพ้นจากตำแหน่ง  ผู้แทนสมาชิกพ้นจากตำแหน่ง  เมื่อ

(1)  ครบวาระหรือมีการเลือกตั้งผู้แทนสมาชิกใหม่

(2)  ลาออกโดยยื่นใบลาออกต่อที่ประชุมกลุ่มซึ่งตนสังกัด

(3)  ออกจากกลุ่มที่ตนสังกัด ยกเว้นกรรมการดำเนินการตามข้อ 68 (4)

(4)  ขาดจากสมาชิกภาพ

(5)  ที่ประชุมกลุ่มซึ่งตนสังกัดลงมติถอดถอน

ข้อ 70 ตำแหน่งผู้แทนสมาชิกว่างก่อนถึงคราวออกตามวาระ  ถ้าผู้แทนสมาชิกพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าด้วยประการใด ๆ จนทำให้จำนวนผู้แทนสมาชิกเหลือไม่ถึงหนึ่งร้อยคนหรือเหลือไม่ถึงสามในสี่ของจำนวนผู้แทนสมาชิกทั้งหมด ก็ให้ที่ประชุมกลุ่มดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนสมาชิกให้ครบตามจำนวนที่ว่างลง และให้ผู้แทนสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าที่กำหนดเวลาที่ผู้ซึ่งตนแทนนั้นชอบจะอยู่ได้

ข้อ 71 การแจ้งกำหนดการประชุมใหญ่  เมื่อจะมีการประชุมใหญ่ทุกคราว ให้สหกรณ์มีหนังสือแจ้งวัน เวลา สถานที่ และเรื่องที่จะประชุมให้บรรดาสมาชิก หรือผู้แทนสมาชิกทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน แต่ถ้าการประชุมนั้นเป็นการด่วนอาจแจ้งล่วงหน้าได้ตามสมควร และอาจแจ้งสมาชิกให้ทราบทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้  ทั้งนี้ ให้ประธานกรรมการหรือรองประธาน หรือเลขานุการเป็นผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือนั้น และต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ทราบล่วงหน้าในโอกาสเดียวกันกับที่แจ้งให้สมาชิก หรือผู้แทนสมาชิกทราบด้วย

ข้อ 72 องค์ประชุมในการประชุมใหญ่ การประชุมใหญ่ของสหกรณ์ต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดหรือไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคน  ในกรณีเป็นการประชุมใหญ่โดยผู้แทนสมาชิกต้องมีผู้แทนสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้แทนสมาชิกทั้งหมดหรือไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคนจึงจะเป็นองค์ประชุม

ในกรณีที่ที่ประชุมใหญ่โดยผู้แทนสมาชิก  สมาชิกทั่วไปสามารถเข้าร่วมประชุมใหญ่ในฐานะผู้สังเกตการณ์ได้  แต่ไม่มีสิทธินับเป็นองค์ประชุม หรือออกเสียงและได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการดำเนินการ เว้นแต่สมาชิกที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ตรวจสอบกิจการให้ได้รับการเลือกตั้งได้ และสามารถเข้าร่วมประชุมใหญ่ในฐานะผู้สังเกตการณ์ได้ แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงและแสดงความคิดเห็น และไม่ได้รับเบี้ยประชุม

ในการประชุมใหญ่  สมาชิก หรือผู้แทนสมาชิก จะมอบอำนาจให้ผู้อื่นมาประชุมแทนตนไม่ได้

ข้อ 73 การเรียกประชุมใหญ่ครั้งที่สอง ในการประชุมใหญ่ของสหกรณ์ ถ้าสมาชิก หรือผู้แทนสมาชิกแล้วแต่กรณีมาประชุมไม่ครบองค์ประชุมตามข้อ 72 วรรคแรก ให้นัดประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่งภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่นัดประชุมใหญ่ครั้งแรก ในการประชุมครั้งหลังนี้ถ้ามิใช่การประชุมใหญ่วิสามัญที่สมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกร้องขอให้เรียกประชุม เมื่อมีสมาชิก หรือผู้แทนสมาชิกแล้วแต่กรณีมาประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิก หรือผู้แทนสมาชิกทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่าสามสิบคนก็ให้ถือเป็นองค์ประชุม แต่ถ้าเป็นการประชุมใหญ่วิสามัญที่สมาชิก หรือผู้แทนสมาชิกร้องขอให้เรียกประชุม เมื่อมีสมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกมาประชุมมีจำนวนไม่ถึงที่จะเป็นองค์ประชุมตามที่กล่าวในข้อ 72 วรรคแรก ก็ให้งดประชุม

ข้อ 74 อำนาจหน้าที่ของที่ประชุมใหญ่ ที่ประชุมใหญ่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของสหกรณ์ ในข้อต่อไปนี้

(1) รับทราบเรื่องการรับสมาชิกเข้าใหม่ สมาชิกออกจากสหกรณ์ การเลือกตั้งผู้แทนสมาชิก และวินิจฉัยข้ออุทธรณ์ของผู้สมัครซึ่งมิได้รับเลือกเข้าเป็นสมาชิก และสมาชิกที่ถูกให้ออกจากสหกรณ์

(2) เลือกตั้งและถอดถอนกรรมการดำเนินการหรือถอดถอนคณะกรรมการดำเนินการและผู้ตรวจสอบกิจการของสหกรณ์

(3) อนุมัติงบการเงินประจำปี และจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีของสหกรณ์

(4) รับทราบรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์จากคณะกรรมการดำเนินการและผลการตรวจสอบประจำปีจากผู้ตรวจสอบกิจการ

(5) กำหนดค่าตอบแทนในการปฏิบัติหน้าที่หรือค่าตอบแทนอื่นของผู้ตรวจสอบกิจการ

(6) กำหนดวงเงินการกู้ยืมหรือการค้ำประกัน ของสหกรณ์

(7) อนุมัติแผนงานและงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสหกรณ์ หรือแผนปรับปรุงการดำเนินงานของสหกรณ์ หรือแผนและวงเงินการจ่ายคืนค่าหุ้นบางส่วนระหว่างเป็นสมาชิก

(8) กำหนดค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ ค่าเช่าที่พัก และค่าเบี้ยประชุมของกรรมการดำเนินการ กรรมการอื่น ๆ อนุกรรมการ ที่ปรึกษา

(9) แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ

(10) เห็นชอบให้แยกสหกรณ์ ควบสหกรณ์ เลิกสหกรณ์ เข้าร่วมจัดตั้งหรือเป็นสมาชิกชุมนุมสหกรณ์

(11) รับทราบเรื่องการดำเนินงานของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และชุมนุมสหกรณ์ที่สหกรณ์นี้เป็นสมาชิกอยู่

(12) พิเคราะห์และปฏิบัติตามคำสั่งหรือหนังสือหรือคำแนะนำของนายทะเบียนสหกรณ์ รองนายทะเบียนสหกรณ์ ผู้ตรวจการสหกรณ์ ผู้สอบบัญชี หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมาย

(13) กำหนดรูปการซึ่งสหกรณ์คิดจะทำเป็นเครื่องเกื้อหนุนบรรดาสมาชิกตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ (14) พิจารณาวินิจฉัยเรื่องทั้งปวงที่ข้อบังคับไม่ได้กำหนดให้เป็นอำนาจของผู้ใดเป็นการเฉพาะ