หมวดที่ 8 – คณะกรรมการดำเนินการ
ข้อ 75 คณะกรรมการดำเนินการ ให้สหกรณ์มีคณะกรรมการดำเนินการประกอบด้วยประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการดำเนินการอีกสิบสี่คน ซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งจากสมาชิก โดยกรรมการอย่างน้อยหนึ่งคน ต้องเป็นผู้มีคุณวุฒิด้านการเงิน การบัญชี การบริหารจัดการ เศรษฐศาสตร์ หรือผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรในด้านดังกล่าวหรือด้านอื่นตามที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติกำหนด
การเลือกตั้งกรรมการตามวรรคแรกให้กระทำโดยวิธีเปิดเผย และให้กรรมการดำเนินการเลือกตั้งในระหว่างกันเองขึ้นดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการคนหนึ่ง หรือหลายคน เลขานุการคนหนึ่งและเหรัญญิกคนหนึ่ง นอกนั้นเป็นกรรมการ และปิดประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน ณ สำนักงานสหกรณ์ หรือประกาศทางอิเล็กทรอนิกส์
ข้อ 76 ห้ามมิให้บุคคลซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นหรือทำหน้าที่กรรมการดำเนินการ
(1) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(2) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ องค์การ หน่วยงานของรัฐหรือ เอกชนฐานทุจริตต่อหน้าที่
(3) เคยถูกให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการหรือหรือผู้จัดการหรือมีคำวินิจฉัยเป็นที่สุดให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการหรือผู้จัดการตามคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์
(4) เคยถูกที่ประชุมใหญ่มีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งกรรมการเพราะเหตุทุจริตต่อหน้าที่
(5) เป็นกรรมการหรือผู้จัดการในสหกรณ์ถูกสั่งเลิกตามมาตรา 89/3 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
(6) ผิดนัดชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยกับสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกในระยะเวลาสองปีทางบัญชีก่อนวันที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการหรือวันที่ทำสัญญาจ้างเป็นผู้จัดการหรือในขณะที่ดำรงตำแหน่งนั้น
(7) ผู้ซึ่งถูกสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกหรือรองนายทะเบียนสหกรณ์ฟ้องดำเนินคดีในทางแพ่งหรือทางอาญาในข้อกล่าวหาที่กระทำให้สหกรณ์เสียหาย หรือเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่สหกรณ์ในการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหาย
(8) เป็นเจ้าหน้าที่ในสหกรณ์นี้
ข้อ 77 อำนาจหน้าที่ของกรรมการดำเนินการแต่ละตำแหน่ง
ก. ประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
(1) เป็นประธานในที่ประชุมใหญ่และที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ และควบคุมการประชุมดังกล่าวให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
(2) ควบคุมดูแลการดำเนินงานทั่วไปของสหกรณ์ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและอยู่ในวัตถุประสงค์ของสหกรณ์
(3) ลงลายมือชื่อในเอกสารต่าง ๆ ในนามสหกรณ์ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
(4) ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมายให้ภายใต้กฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์
ข. รองประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
(1) ปฏิบัติการในอำนาจหน้าที่ของประธานกรรมการแทนประธานกรรมการ เมื่อประธานกรรมการไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือเมื่อตำแหน่งประธานกรรมการว่างลง
(2) ปฏิบัติการตามที่ประธานกรรมการมอบหมายให้
(3) ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมายให้ภายใต้กฎหมายข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์
ค. เลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
(1) จัดทำรายงานการประชุมใหญ่ และรายงานการประชุมคณะกรรมการดำเนินการทุกครั้ง
(2) ดูแลรักษาเอกสาร และรายงานการประชุมของสหกรณ์ให้เรียบร้อยอยู่เสมอ
(3) แจ้งนัดประชุมไปยังบรรดาสมาชิก หรือกรรมการดำเนินการ แล้วแต่กรณี
(4) ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมายให้ ภายใต้กฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์
ง. เหรัญญิก มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
(1) ควบคุม ดูแล ตรวจสอบการรับจ่าย การเก็บรักษาเงินและทรัพย์สินของสหกรณ์ให้เป็นไปโดยถูกต้องเรียบร้อย
(2) ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมายให้ ภายใต้กฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์
ข้อ 78 กำหนดเวลาอยู่ในตำแหน่ง คณะกรรมการดำเนินการ มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปีนับแต่วันเลือกตั้ง ในวาระเริ่มแรกเมื่อครบหนึ่งปีนับแต่วันเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการทั้งคณะ ให้กรรมการดำเนินการออกจากตำแหน่งเป็นจำนวนหนึ่งในสองของกรรมการดำเนินการทั้งหมดโดยวิธีจับฉลาก (ถ้ามีเศษให้ปัดขึ้น) และให้ถือว่าเป็นการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ในปีต่อไปให้กรรมการดำเนินการที่อยู่ในตำแหน่งจนครบวาระออกจากตำแหน่งสลับกันไปทุก ๆ ปี
เมื่อครบกำหนดแล้ว หากยังไม่มีการเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการแทนตำแหน่งที่ว่างลงตามวาระ ก็ให้คณะกรรมการดำเนินการชุดเดิมรักษาการไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างลงตามวาระ แต่ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์
กรรมการดำเนินการสหกรณ์ซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับเลือกตั้งซ้ำอีกได้ แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
กรณีตำแหน่งประธานกรรมการว่างลง หากกรรมการดำเนินการที่ยังอยู่ในตำแหน่งประสงค์จะลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งดังกล่าว จะต้องลาออกจากตำแหน่งกรรมการดำเนินการเดิมของตนเสียก่อนและให้ถือว่าเป็นการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ
ในกรณีที่กรรมการดำเนินการต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ให้คณะกรรมการดำเนินการที่ได้รับเลือกตั้งใหม่อยู่ในตำแหน่งได้เช่นเดียวกับคณะกรรมการดำเนินการชุดแรก และให้นำความในวรรคแรกมาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ 79 การพ้นจากตำแหน่ง กรรมการดำเนินการต้องพ้นจากตำแหน่ง เพราะเหตุใด ๆ ดังต่อไปนี้
(1) ถึงคราวออกตามวาระ
(2) ลาออก โดยแสดงความจำนงเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการดำเนินการ หรือลาออกต่อที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์
(3) ขาดจากสมาชิกภาพ
(4) มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 76
(5) ที่ประชุมใหญ่ลงมติถอดถอนทั้งคณะหรือรายบุคคล
(6) นายทะเบียนสหกรณ์สั่งให้ออกทั้งคณะหรือรายบุคคล
(7) ขาดประชุมคณะกรรมการดำเนินการ โดยไม่มีเหตุอันควร
(8) ย้ายออกนอกสังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24 หรือกองกำกับการ 4 กองบังคับการฝึกพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน
ให้กรรมการดำเนินการผู้มีส่วนได้เสียตาม (6) อุทธรณ์ต่อต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่รับทราบคำสั่ง คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด
เมื่อคณะกรรมการดำเนินการได้สอบสวนพิจารณาปรากฏว่า กรรมการดำเนินการมีเหตุตาม (7) และได้ลงมติโดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามแห่งจำนวนกรรมการดำเนินการที่มีอยู่ทั้งหมดในขณะนั้น ยกเว้นผู้มีส่วนได้เสีย ก็เป็นอันถือว่ากรรมการดำเนินการรายนั้นต้องพ้นจากตำแหน่ง
กรณีที่ที่ประชุมใหญ่ลงมติถอดถอนให้กรรมการดำเนินการพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ให้ที่ประชุมใหญ่ครั้งนั้นเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการใหม่ทั้งคณะ และอยู่ในตำแหน่งได้เช่นเดียวกับคณะกรรมการดำเนินการชุดแรก
ข้อ 80 ตำแหน่งว่างก่อนถึงคราวออกตามวาระ ถ้าตำแหน่งกรรมการดำเนินการว่างลงก่อนถึงคราวออกตามวาระ ( เว้นแต่เพราะเหตุตามข้อ 79 (6) ) ให้กรรมการดำเนินการที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ดำเนินการต่อไปจนกว่าจะมีการประชุมใหญ่ ซึ่งจะได้มีการเลือกตั้งกรรมการดำเนินการแทนในตำแหน่งที่ว่าง แต่ถ้าในเวลาใดจำนวนกรรมการดำเนินการลดลงจนเหลือน้อยกว่าองค์ประชุม กรรมการดำเนินการที่ดำรงตำแหน่งอยู่จะประชุมดำเนินการใด ๆ ไม่ได้ นอกจากต้องนัดเรียกให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นโดยเร็ว เฉพาะการเลือกตั้งกรรมการดำเนินการแทนตำแหน่งที่ว่างลง
ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการดำเนินการว่างลงก่อนถึงคราวออกตามวาระตามความในวรรคก่อน เป็นตำแหน่งประธานกรรมการ หากไม่มีรองประธานกรรมการทำหน้าที่แทนและยังมิได้มีการประชุมใหญ่เพื่อเลือกตั้งใหม่ คณะกรรมการดำเนินการอาจพิจารณาเลือกตั้งกรรมการดำเนินการอื่นขึ้นทำหน้าที่แทนชั่วคราวจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่
กรรมการดำเนินการซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งขึ้นแทนในตำแหน่งที่ว่าง ให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาที่ผู้ซึ่งตนแทนนั้นชอบที่จะอยู่ได้
ข้อ 81 การประชุมและองค์ประชุม ให้คณะกรรมการดำเนินการประชุมกันตามคราวที่มีกิจธุระแต่ต้องมีการประชุมกันเดือนละหนึ่งครั้งเป็นอย่างน้อย
ให้ประธานกรรมการ หรือรองประธานกรรมการ หรือเลขานุการ เรียกประชุมคณะกรรมการดำเนินการได้ ในกรณีที่เป็นการประชุมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขระเบียบ ข้อบังคับ และเรื่องที่สำคัญอื่น ๆ ของสหกรณ์ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ทราบด้วยทุกคราว
ในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการ ต้องมีกรรมการดำเนินการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการดำเนินการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ข้อ 82 อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการ คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการทั้งปวงของสหกรณ์ ให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์กับทั้งในทางอันจะทำให้เกิดความจำเริญแก่สหกรณ์ ซึ่งรวมทั้งในข้อต่อไปนี้
(1) พิจารณาในเรื่องการรับสมาชิกและสมาชิกออกจากสหกรณ์ ตลอดจนดูแลให้สมาชิกปฏิบัติการต่าง ๆ ตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติและคำสั่งของสหกรณ์
(2) พิจารณาในเรื่องการรับฝากเงิน การกู้ยืมเงิน การให้เงินกู้ และการฝากหรือลงทุนของสหกรณ์
(3) พิจารณาดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน ดังระบุไว้ในวัตถุประสงค์ของสหกรณ์
(4) ค้ำประกันเงินกู้ที่สหกรณ์กู้ยืมจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยรับผิดชอบการค้ำประกันในฐานะส่วนตัว
(5) กำหนดระเบียบต่าง ๆ ของสหกรณ์
(6) กำหนดและดำเนินการเกี่ยวกับการประชุมใหญ่ การเสนองบการเงินประจำปีและรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่
(7) เสนอแนะการจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีต่อที่ประชุมใหญ่
(8) เสนอแผนงานและงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือแผนปรับปรุงการดำเนินงานของสหกรณ์ให้ที่ประชุมใหญ่อนุมัติ
(9) เสนอให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณาให้สหกรณ์สมัครเข้าเป็นสมาชิก และออกจากการเป็นสมาชิกชุมนุมสหกรณ์ และองค์การอื่น
(10) พิจารณามอบหมายอำนาจหน้าที่ในการดำเนินงานให้แก่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ เลขานุการ เหรัญญิก ผู้จัดการและบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ตามความเหมาะสม
(11) พิจารณาดำเนินการแต่งตั้งและถอดถอนคณะกรรมการอื่น หรือคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการของสหกรณ์
(12) พิจารณาดำเนินการแต่งตั้ง หรือจ้าง และกำหนดค่าตอบแทนของผู้จัดการ ตลอดจนควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของผู้จัดการให้เป็นการถูกต้อง
(13) พิจารณากำหนดตัวเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ให้ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้จัดการ
(14) พิจารณาดำเนินการแต่งตั้งและกำหนดค่าตอบแทนแก่ผู้ตรวจสอบภายใน
(15) เชิญบุคคลภายนอกที่เห็นสมควรเป็นที่ปรึกษาของสหกรณ์ ตลอดจนกำหนดค่าตอบแทนให้ตามที่เห็นสมควร
(16) จัดให้มีและดูแลให้เรียบร้อยซึ่งบรรดาทะเบียน สมุดบัญชีเอกสารต่าง ๆ และบรรดาอุปกรณ์ดำเนินงานของสหกรณ์
(17) พิจารณารายงานของคณะกรรมการอื่น คณะอนุกรรมการ ผู้ตรวจสอบกิจการ ความเห็นของผู้จัดการและสมาชิกเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์
(18) พิเคราะห์และปฏิบัติตามหนังสือของนายทะเบียนสหกรณ์ รองนายทะเบียนสหกรณ์ ผู้ตรวจการสหกรณ์ ผู้สอบบัญชี หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมาย
(19) พิจารณาให้ความเที่ยงธรรมแก่บรรดาสมาชิก เจ้าหน้าที่สหกรณ์ ตลอดจนสอดส่องดูแลโดยทั่วไปเพื่อให้กิจการของสหกรณ์ดำเนินไปด้วยดี
(20) ฟ้อง ต่อสู้ หรือดำเนินคดีเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์ หรือประนีประนอมยอมความ หรือมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาชี้ขาด
(21) พิจารณาแต่งตั้งผู้แทนสหกรณ์เพื่อเข้าประชุมและออกเสียงในการประชุมใหญ่ของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ชุมนุมสหกรณ์ และองค์กรอื่นซึ่งสหกรณ์นี้เป็นสมาชิก ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่ข้อบังคับของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ชุมนุมสหกรณ์ และองค์การนั้นกำหนดไว้
ข้อ 83 ความรับผิดของคณะกรรมการดำเนินการ ในกรณีคณะกรรมการดำเนินการกระทำการ หรืองดเว้นกระทำการ หรือกระทำการโดยประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ของตนจนทำให้เสื่อมเสียผลประโยชน์ของสหกรณ์หรือสมาชิก อันเป็นเหตุให้สหกรณ์มีข้อบกพร่องเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี หรือกิจการ หรือฐานะการเงิน ตามรายงานการสอบบัญชีหรือรายงานการตรวจสอบ เป็นเหตุให้สหกรณ์ได้รับความเสียหาย คณะกรรมการดำเนินการต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สหกรณ์
คณะกรรมการอื่น
ข้อ 84 คณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการดำเนินการอาจตั้งคณะกรรมการอำนวยการจากคณะกรรมการดำเนินการ จำนวนเจ็ดคน โดยให้ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ เหรัญญิก และเลขานุการของคณะกรรมการดำเนินการเป็นกรรมการอำนวยการ และให้คณะกรรมการดำเนินการตั้งกรรมการดำเนินการอื่นเป็นกรรมการร่วมอีกตามสมควร
ให้ประธานกรรมการ และเลขานุการคณะกรรมการดำเนินการเป็นประธาน และเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการตามลำดับ
คณะกรรมการอำนวยการ ให้อยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับกำหนดเวลาของคณะกรรมการดำเนินการซึ่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการนั้น
ให้คณะกรรมการอำนวยการประชุมกันตามคราวที่มีกิจธุระ แต่จะต้องมีการประชุมกันเดือนละหนึ่งครั้งเป็นอย่างน้อย และให้ประธานกรรมการอำนวยการหรือเลขานุการนัดเรียกประชุมได้
ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการ ต้องมีกรรมการอำนวยการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการอำนวยการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ข้อวินิจฉัยทั้งปวงของคณะกรรมการอำนวยการ ให้เสนอคณะกรรมการดำเนินการในการประชุมคราวถัดไปทราบ
ข้อ 85 อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอำนวยการ ให้คณะกรรมการอำนวยการเป็นผู้ดำเนินกิจการแทนคณะกรรมการดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมาย และตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่ง ของสหกรณ์ ซึ่งรวมทั้งในข้อต่อไปนี้
(1) ควบคุมในเรื่องการรับเงิน การจ่ายเงิน การสะสมเงิน การฝากหรือการเก็บรักษาเงินให้เป็นไปตามข้อบังคับและระเบียบของสหกรณ์
(2) ควบคุมการจัดทำบัญชี และทะเบียนต่าง ๆ ของสหกรณ์ให้ถูกต้องครบถ้วนและเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ
(3) ควบคุมดูแล เก็บรักษาเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ตลอดจนทรัพย์สินของสหกรณ์ให้อยู่ในสภาพอันดีและปลอดภัย และพร้อมที่จะให้ผู้เกี่ยวข้องตรวจสอบได้ทันที
(4) เสนอแนะคณะกรรมการดำเนินการในการปรับปรุงหรือแก้ไขการบริหารงานของสหกรณ์
(5) ควบคุมดูแลการจัดทำงบการเงินประจำปีและรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์เสนอคณะกรรมการดำเนินการพิจารณา เพื่อเสนอต่อที่ประชุมใหญ่อนุมัติ
(6) พิจารณาการจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีของสหกรณ์ เสนอต่อคณะกรรมการดำเนินการพิจารณาและเสนอให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณาอนุมัติ
(7) จัดทำแผนงานและงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสหกรณ์ เสนอต่อคณะกรรมการดำเนินการพิจารณาและเสนอที่ประชุมใหญ่อนุมัติ
(8) ทำนิติกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของสหกรณ์ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมาย
ข้อ 86 คณะกรรมการเงินกู้ คณะกรรมการดำเนินการอาจตั้งคณะกรรมการเงินกู้จากคณะกรรม
การดำเนินการจำนวนห้าคน โดยให้มีตำแหน่งประธานกรรมการคนหนึ่ง และเลขานุการคนหนึ่ง นอกนั้นเป็นกรรมการ
คณะกรรมการเงินกู้ให้อยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับกำหนดเวลาของคณะกรรมการดำเนินการ
ซึ่งตั้งคณะกรรมการเงินกู้นั้น
ให้คณะกรรมการเงินกู้ประชุมกันตามคราวที่มีกิจธุระ แต่จะต้องมีการประชุมกันเดือนละหนึ่งครั้งเป็นอย่างน้อย และให้ประธานกรรมการเงินกู้หรือเลขานุการนัดเรียกประชุมได้
ในการประชุมคณะกรรมการเงินกู้ ต้องมีกรรมการเงินกู้เข้าประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการเงินกู้ทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม ข้อวินิจฉัยทั้งปวงของคณะกรรมการเงินกู้ ให้นำเสนอคณะกรรมการดำเนินการทราบในการประชุมคราวถัดไป
ข้อ 87 อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเงินกู้ ให้คณะกรรมการเงินกู้มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยอนุมัติการให้เงินกู้แก่สมาชิกตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์ รวมทั้งข้อต่อไปนี้
(1) ตรวจสอบการใช้เงินกู้ของสมาชิกให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ให้เงินกู้นั้น
(2) ตรวจสอบและควบคุมให้เงินกู้มีหลักประกันตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์ และเมื่อเห็นว่าหลักประกันสำหรับเงินกู้รายใดเกิดบกพร่องก็ต้องกำหนดให้ผู้กู้จัดการแก้ไขให้คืนดีภายในระยะเวลาที่กำหนด
(3) ดูแลและติดตามการชำระหนี้ของสมาชิกผู้กู้ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในสัญญา
(4) รายงานและสอบสวนเบื้องต้นให้ได้ข้อความจริง ในกรณีสมาชิกผู้กู้ขอผ่อนเวลาการส่งเงินงวดชำระหนี้เงินกู้ หรือผิดนัดการส่งเงินงวดชำระหนี้ เพื่อเสนอความเห็นให้คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาผ่อนผัน หรือเรียกคืนเงินกู้ หรือสอบสวนลงโทษให้สมาชิกออกจากสหกรณ์ หรือพิจารณาว่าตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ตามข้อ 76 (6) โดยจะต้องรายงานเป็นประจำทุกเดือน
ข้อ 88 คณะกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการดำเนินการอาจตั้งคณะกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์ จากคณะกรรมการดำเนินการจำนวนเจ็ดคน โดยให้มีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการคนหนึ่ง และเลขานุการคนหนึ่ง นอกนั้นเป็นกรรมการ
คณะกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์ให้อยู่ในตำแหน่งได้เท่าที่กำหนดเวลาของคณะกรรมการดำเนินการซึ่งตั้งคณะกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์นั้น
ให้คณะกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์ประชุมกันตามคราวที่มีกิจธุระ แต่จะต้องมีการประชุมกันเดือนละหนึ่งครั้งเป็นอย่างน้อย และให้ประธานกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์หรือเลขานุการนัดเรียกประชุมได้
ในการประชุมคณะกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนของกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์ทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ให้คณะกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์รายงานผลการปฏิบัติงานให้คณะกรรมการดำเนินการทราบในการประชุมคราวถัดไป
ข้อ 89 อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์ ให้คณะกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินกิจการตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์ในส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมทั้งในข้อต่อไปนี้
(1) ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่สมาชิก โดยให้การศึกษาและอบรมแก่สมาชิกและผู้ที่สนใจให้ทราบถึงเจตนารมณ์ หลักวิธีการ และการบริหารงานของสหกรณ์
(2) ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข่าวสาร ความรู้เกี่ยวกับลักษณะ ประโยชน์รวมทั้งผลงานของสหกรณ์ให้สมาชิก และบุคคลภายนอกรับทราบ
(3) ดำเนินการในการประชาสัมพันธ์และให้ความรู้แก่ผู้สนใจสมัครเข้าเป็นสมาชิก
(4) ให้การศึกษาอบรมและเผยแพร่แก่สมาชิกถึงวิธีการออมทรัพย์และการใช้จ่ายเงินอย่างรอบคอบ ตลอดจนวิชาการต่าง ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพ
(5) ศึกษาและติดตามข่าวความเคลื่อนไหวด้านการดำเนินงานของสหกรณ์อื่นทั้งในและนอกประเทศ เพื่อนำตัวอย่างที่ดีมาเสนอคณะกรรมการดำเนินการพิจารณานำมาบริการแก่สมาชิกตามความเหมาะสม
(6) ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนงานสหกรณ์ และรายงานผลการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานให้คณะกรรมการดำเนินการทราบ
คณะอนุกรรมการ
ข้อ 90 คณะอนุกรรมการ ในกรณีจำเป็นแก่การดำเนินงาน คณะกรรมการดำเนินการอาจมีคำสั่งแต่งตั้งอนุกรรมการต่าง ๆ เพื่อมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจของสหกรณ์ โดยมีอำนาจหน้าที่ตามที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด
คณะกรรมการดำเนินการอาจแต่งตั้งบุคคลภายนอกที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ เป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการและให้ถือว่าที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบ
ข้อ 91 องค์ประกอบของคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง ให้คณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งกรรมการดำเนินการเป็นคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง จำนวนห้าคน โดยมีตำแหน่งประธานอนุกรรมการคนหนึ่ง และเลขานุการอนุกรรมการคนหนึ่ง นอกนั้นเป็นอนุกรรมการ
คณะกรรมการดำเนินการอาจแต่งตั้งบุคคลภายนอกที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการได้
คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับกำหนดเวลาของคณะกรรมการดำเนินการซึ่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงนั้น
ให้คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงประชุมกันตามคราวที่มีกิจธุระ หรือมีการประชุมกันเดือนละหนึ่งครั้งเป็นอย่างน้อยและให้ประธานอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง หรือเลขานุการนัดเรียกประชุมได้
ในการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง ต้องมีอนุกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนอนุกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ข้อวินิจฉัยทั้งปวงของคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง ให้เสนอคณะกรรมการดำเนินการในการประชุมคราวถัดไปทราบและพิจารณา
ข้อ 92 อำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง ให้คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินกิจการตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์ในส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมทั้งในข้อต่อไปนี้
(1) ศึกษา วิเคราะห์ และกำหนดนโยบายการบริหารความเสี่ยงเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการดำเนินการพิจารณา โดยครอบคลุมถึง ความเสี่ยงประเภทต่าง ๆ เช่น ความเสี่ยงด้านสินเชื่อ การลงทุน สภาพคล่อง ปฏิบัติการและด้านอื่น ๆ ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์เสนอคณะกรรมการดำเนินการอนุมัติ
(2) มีอำนาจตัดสินใจในการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้อง ภายใต้ขอบเขตความรับผิดชอบที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด
(3) ประเมิน ติดตาม กำกับดูแล และทบทวนความเพียงพอของนโยบายเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงเพื่อให้กระบวนการบริหารความเสี่ยงมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
(4) รายงานแผนดำเนินงานที่ควรปรับปรุงแก้ไข ตลอดจนปัจจัยและปัญหาที่มีนัยสำคัญให้แก่คณะกรรมการดำเนินการ เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินกิจการของสหกรณ์
(5) กำกับดูแลเรื่องธรรมาภิบาลเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยง
(6) รายงานผลการปฏิบัติงานให้คณะกรรมการดำเนินการและต่อที่ประชุมใหญ่ทราบ โดยแสดงรายละเอียดในรายงานประจำปี
(7) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมาย
ข้อ 93 องค์ประกอบของคณะอนุกรรมการการลงทุน ให้คณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งกรรมการดำเนินการเป็นคณะอนุกรรมการการลงทุน จำนวนห้าคน และต้องไม่มีกรรมการดำเนินการที่เป็นคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงเป็นอนุกรรมการด้วย โดยมีตำแหน่งประธานอนุกรรมการคนหนึ่ง และเลขานุการอนุกรรมการคนหนึ่ง นอกนั้นเป็นอนุกรรมการ
คณะกรรมการดำเนินการอาจแต่งตั้งบุคคลภายนอก ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการได้
คณะอนุกรรมการการลงทุนให้อยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับกำหนดเวลาของคณะกรรมการดำเนินการซึ่งตั้งคณะอนุกรรมการการลงทุนนั้น
ให้คณะอนุกรรมการการลงทุนประชุมกันตามคราวที่มีกิจธุระ หรือมีการประชุมกันเดือนละหนึ่งครั้งเป็นอย่างน้อยและให้ประธานอนุกรรมการการลงทุน หรือเลขานุการนัดเรียกประชุมได้
ในการประชุมคณะอนุกรรมการการลงทุน ต้องมีอนุกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนอนุกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ข้อวินิจฉัยทั้งปวงของคณะอนุกรรมการการลงทุน ให้เสนอคณะกรรมการดำเนินการในการประชุมคราวถัดไปทราบและพิจารณา
ข้อ 94 อำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการการลงทุน ให้คณะอนุกรรมการการลงทุนมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินกิจการตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์ในส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมทั้งในข้อต่อไปนี้
(1) ศึกษาวิเคราะห์ และกำหนดนโยบายและแผนเกี่ยวกับการลงทุนประจำปีให้สอดคล้องกับนโยบายด้านการบริหารความเสี่ยงโดยรวม และเสนอคณะกรรมการดำเนินการพิจารณาเพื่อเสนอให้ที่ประชุมใหญ่อนุมัติ
(2) พิจารณาอนุมัติแผนการลงทุนและแผนการจัดการลงทุน ภายใต้ขอบเขตที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด
(3) ประเมิน ติดตาม กำกับดูแลผลประโยชน์จากการลงทุน และจัดให้มีการควบคุมภายในที่เหมาะสม
(4) กำกับดูแลเรื่องธรรมาภิบาลเกี่ยวกับการลงทุน
(5) รายงานผลการปฏิบัติงานให้คณะกรรมการดำเนินการทราบ และรายงานผลการปฏิบัติงานในที่ประชุมใหญ่ทราบในรายงานประจำปี
(6) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมาย
ประธานในที่ประชุม
ข้อ 95 ประธานในที่ประชุม ในการประชุมใหญ่หรือการประชุมคณะกรรมการดำเนินการให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม ก็ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม และถ้ารองประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมด้วย ก็ให้ที่ประชุมเลือกตั้งกรรมการดำเนินการคนหนึ่งขึ้นเป็นประธาน ในที่ประชุมเฉพาะการประชุมคราวนั้น
ในการประชุมคณะกรรมการอื่นหรือคณะอนุกรรมการ เช่น คณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการเงินกู้ คณะกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์ ให้ประธานของคณะกรรมการนั้น ๆ เป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม ก็ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมเฉพาะการประชุมคราวนั้น
ในการประชุมกลุ่ม ให้ประธานของกลุ่มหรือเลขานุการกลุ่ม (ถ้ามี) เป็นประธานในที่ประชุมตามลำดับ แต่ถ้าประธานกลุ่มหรือเลขานุการกลุ่มไม่อยู่ในที่ประชุมก็ให้ที่ประชุมเลือกสมาชิกซึ่งเข้าประชุมคนหนึ่งขึ้นเป็นประธานในที่ประชุมเฉพาะการประชุมคราวนั้น
ในการประชุมใหญ่วิสามัญที่สมาชิกร้องขอให้เรียกประชุม ในกรณีที่ที่ประชุมใหญ่ได้มีมติถอดถอนคณะกรรมการดำเนินการทั้งคณะหรือตำแหน่งประธานกรรมการ ให้ผู้ตรวจสอบกิจการเป็นประธานในที่ประชุม
การออกเสียงและการวินิจฉัยปัญหาในที่ประชุม
ข้อ 96 การออกเสียง สมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนนออกเสียงในที่ประชุมใหญ่และที่ประชุมกลุ่มสุดแต่กรณี สมาชิกและผู้แทนสมาชิกจะมอบให้ผู้อื่นมาประชุมและออกเสียงแทนตนไม่ได้
ถ้าในปัญหาซึ่งที่ประชุมวินิจฉัยนั้น ผู้ใดมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษเฉพาะตัว ผู้นั้นจะออกเสียงในเรื่องนั้นไม่ได้
ข้อ 97 การวินิจฉัยปัญหา การวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ ในที่ประชุมใหญ่ หรือที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ หรือที่ประชุมคณะกรรมการอื่น ๆ ให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้ให้ถือเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกซึ่งมาประชุม
(1) การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ
(2) การควบสหกรณ์
(3) การแยกสหกรณ์
(4) การเลิกสหกรณ์
การอื่นใดที่ข้อบังคับนี้กำหนดการลงคะแนนเสียงไว้เป็นการเฉพาะ ก็ให้ถือปฏิบัติเป็นไปตามข้อกำหนดนั้น
ถ้าในปัญหาซึ่งที่ประชุมวินิจฉัยนั้น ผู้ใดมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษเฉพาะตัว ผู้นั้นจะออกเสียงในเรื่องนั้นไม่ได้
รายงานการประชุม
ข้อ 98 รายงานการประชุม ในการประชุมใหญ่ การประชุมกลุ่ม การประชุมคณะกรรมการดำเนินการ หรือการประชุมคณะกรรมการอื่น ๆ นั้น ต้องจัดให้ผู้เข้าประชุม ลงลายมือชื่อ พร้อมทั้งบันทึกเรื่องที่พิจารณาวินิจฉัยทั้งสิ้นไว้ในรายงานการประชุม และให้ประธานในที่ประชุมกับเลขานุการ หรือกรรมการอื่น ๆ อนุกรรมการ แล้วแต่กรณี อีกคนหนึ่งที่เข้าประชุมนั้น ๆ ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ
รายงานการประชุมคณะกรรมการดำเนินการต้องจัดทำให้แล้วเสร็จภายในไม่เกินสามสิบวัน