ว่าด้วย การรับเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากประจำ พ.ศ. 2560

อาศัยอำนาจตามความในข้อบังคับของสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24 จำกัด  ข้อ 79 (8)  และข้อ 107 (1)  ที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ ครั้งที่ 12 /2560  เมื่อวันที่ 4  ตุลาคม 2560 ได้กำหนดระเบียบว่าด้วยการรับเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากประจำ  โดยความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ ดังต่อไปนี้

หมวดที่  1

ข้อกำหนดทั่วไป

            ข้อ 1.  ระเบียบนี้เรียกว่า  “ระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24 จำกัด  ว่าด้วยการรับเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากประจำ  พ.ศ. 2560”

            ข้อ 2.  ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่  นายทะเบียนสหกรณ์ให้ความเห็นชอบ เป็นต้นไป

            ข้อ 3.  ให้ยกเลิกระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจตระวนชายแดนที่ 24 จำกัด ว่าด้วยการรับฝากเงินจากสมาชิก พ.ศ. 2545 และบรรดาระเบียบ ประกาศ คำสั่ง มติ หรือข้อตกลงอื่นใดซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน

            ข้อ 4.  สหกรณ์รับเงินฝากจากสมาชิกได้  2  ประเภท คือ

  • เงินฝากออมทรัพย์
  • เงินฝากประจำ

หมวดที่  2

การเปิดบัญชีและการฝากเงิน

            ข้อ  5.  ผู้ประสงค์จะเปิดบัญชีเงินฝากตามข้อ 3 ให้มาติดต่อกับเจ้าหน้าที่สหกรณ์  ณ  สำนักงานสหกรณ์ด้วยตนเอง  และต้องยื่นหนังสือขอเปิดบัญชีเงินฝากตามแบบของสหกรณ์ โดยมีรายการครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในแบบหนังสือขอเปิดบัญชีนั้น

            ในกรณีที่สหกรณ์มีโครงการระดมเงินฝากเป็นกรณีพิเศษและประสงค์จะออกรับเงินฝากนอกสำนักงานของสหกรณ์  ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการดำเนินการ พร้อมทั้งกำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยด้วย

            ข้อ 6.  พร้อมกับหนังสือขอเปิดบัญชีเงินฝาก  ผู้ฝากต้องให้ตัวอย่างลายมือชื่อของตนหรือของตัวแทนซึ่งเป็นผู้มีอำนาจถอนเงิน  ตลอดจนให้คำสั่งเกี่ยวกับเงินฝากที่เปิดบัญชีนั้นไว้ต่อสหกรณ์

            การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับตัวอย่างลายมือชื่อที่ให้ไว้ จะมีผลต่อเมื่อผู้ฝากได้แจ้งเป็นหนังสือต่อสหกรณ์  และสหกรณ์ได้พิจารณาเห็นเป็นการถูกต้องและตอบรับแล้ว

ลายมือชื่อทุกกรณีเกี่ยวกับเงินฝากให้ใช้อักษรไทยและเขียนด้วยหมึกทั้งต้องเขียนด้วยลายมือตนเอง  สหกรณ์จะไม่รับรู้การใช้ตราประทับแทนลายมือชื่อ

            ข้อ 7.  ผู้ฝากคนหนึ่งสามารถเปิดบัญชีเงินฝากได้ดังนี้

  • เงินฝากออมทรัพย์   ผู้ฝากรายหนึ่งๆ  อาจเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ในสหกรณ์นี้ได้โดยจำนวนเงินฝากในบัญชีนั้นในเวลาหนึ่งเวลาใดต้องไม่น้อยกว่า  100  บาท  และเงินฝากคงเหลือในบัญชีในเวลาใดเวลาหนึ่งต้องไม่น้อยกว่า 100 บาท  ผู้ฝากจะส่งเงินฝากเพิ่มขึ้นเมื่อใดโดยจำนวนเท่าใดก็ได้
  • เงินฝากประจำ  ผู้ฝากรายหนึ่งๆ ต้องเปิดบัญชีเงินฝากประจำครั้งแรกไม่น้อยกว่า 500 บาท และเงินฝากคงเหลือในบัญชีในเวลาใดเวลาหนึ่งต้องไม่น้อยกว่า 500 บาท ระยะเวลาฝากต้องไม่น้อยกว่า 6 เดือน

ข้อ 8.  ในการเปิดบัญชีเงินฝากตามข้อ 7  สหกรณ์จะออกสมุดคู่ฝากให้ผู้ฝากยึดถือไว้

สมุดคู่ฝากนั้นผู้ฝากต้องรักษาไว้  เพื่อให้สหกรณ์ลงบันทึกรายการเงินฝาก  ดอกเบี้ย  เงินถอน และเงินคงเหลือของตนบรรดาที่จะมีขึ้นทุกราย

การลงบันทึกรายการต่างๆ ในสมุดคู่ฝากนั้น จะกระทำได้แต่โดยทางฝ่ายสหกรณ์ ซึ่งประธานกรรมการหรือรองประธานกรรมการ หรือเหรัญญิก หรือผู้จัดการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายคนหนึ่งคนใดเป็นผู้ลงลายมือชื่อย่อกำกับไว้เป็นสำคัญ การลงบันทึกรายการในสมุดคู่ฝากโดยไม่เป็นไปตามที่กล่าวนี้ ย่อมไม่มีผลผูกพันสหกรณ์ อนึ่ง  ถ้าผู้ฝากตรวจพบว่ารายการใดในสมุดคู่ฝากคลาดเคลื่อน ต้องแจ้งต่อสหกรณ์เพื่อแก้ไขให้  จะแก้ไขโดยประการอื่นไม่ได้

สมุดคู่ฝากเล่มที่ใช้เต็มแล้วหรือชำรุดจนใช้การไม่ได้ ให้นำมายื่นต่อสหกรณ์เพื่อจะได้ยกเลิกสมุดคู่ฝากเล่มนั้น  และโอนยอดเงินคงเหลือเข้าสมุดคู่ฝากใหม่ซึ่งออกให้ผู้ฝากยึดถือไว้ต่อไป    สมุดคู่ฝากเล่มที่ยกเลิกนั้นผู้ฝากจะรับไปก็ได้

ผู้ฝากต้องเก็บรักษาสมุดคู่ฝากของตนไว้ในที่ปลอดภัย  ถ้าสมุดคู่ฝากหายผู้ฝากต้องแจ้งเป็นหนังสือต่อสหกรณ์โดยมิชักช้า  สหกรณ์จะนำยอดเงินคงเหลือเข้าสมุดคู่ฝากเล่มใหม่ออกให้ผู้ฝากยึดถือไว้ต่อไป ส่วนสมุดคู่ฝากเล่มที่หายให้ยกเลิก

            ในกรณีที่สหกรณ์ออกสมุดให้แก่ผู้ฝากครั้งแรกก็ดี หรือออกเล่มใหม่ให้ต่อจากเล่มก่อ  ซึ่งลงรายการเต็มแล้วก็ดี  หรือชำรุดใช้การไม่ได้ก็ดี  สหกรณ์จะไม่คิดค่าธรรมเนียม แต่กรณีที่สมุดคู่ฝากของผู้ฝากคนใดสูญหาย  สหกรณ์จะออกสมุดคู่ฝากใหม่ให้ โดย คิดค่าธรรมเนียมเล่มละ  20  บาท

ข้อ 9.  ในการส่งเงินเข้าบัญชีเงินฝากทุกครั้ง  ให้ทำใบส่งเงินตามแบบพิมพ์ที่สหกรณ์กำหนด  ยื่นพร้อมด้วยสมุดคู่ฝากและจำนวนเงินฝากต่อเจ้าหน้าที่สหกรณ์ ณ สำนักงานสหกรณ์   ทั้งนี้ ผู้ฝากหรือผู้อื่นจะเป็นผู้ส่งเงินก็ได้

เมื่อสหกรณ์ได้ลงบันทึกรายการจำนวนเงินฝากที่ได้รับนั้นในสมุดคู่ฝาก และตรวจสอบเป็นการถูกต้องแล้ว  สหกรณ์จะคืนสมุดคู่ฝากให้ผู้ฝาก

ข้อ 10.  ถ้าส่งเช็คเข้าบัญชีเงินฝาก  ต้องขีดคร่อมเช็คก่อน  สหกรณ์สงวนไว้ซึ่งสิทธิที่จะไม่จ่ายเงินถอนจากรายการเช่นนั้นจนกว่าจะเรียกเก็บเงินตามเช็ดได้แล้ว

หมวด  3

การกำหนดอัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาการคิดดอกเบี้ย วิธีการคิดดอกเบี้ย

และการจ่ายดอกเบี้ย

            ข้อ 11.  สหกรณ์จะให้ดอกเบี้ยเงินฝากทุกประเภทตามข้อ 4 ในอัตราไม่เกินนายทะเบียนสหกรณ์กำหนด โดยจะได้ประกาศให้ทราบเป็นคราว ๆ ไป

            ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ ให้คำนวณเป็นรายวันตามยอดเงินคงเหลือและสหกรณ์จะนำดอกเบี้ยทบเป็นต้นเงินเข้าบัญชีเงินฝากในวันสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์  ให้ผู้ฝากรีบยื่นสมุดคู่ฝาก  ณ  สำนักงานสหกรณ์ เพื่อสหกรณ์บันทึกรายการดอกเบี้ยให้

            ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ  คำนวณดอกเบี้ยให้เมื่อครบกำหนดระยะเวลาฝากไม่น้อยกว่า 6 เดือน ในกรณีถอนเงินฝากประจำในระยะเวลาไม่ถึง 6 เดือน สหกรณ์จะไม่จ่ายดอกเบี้ยให้

            ถ้าผู้ฝากไม่ถอนเงินฝากประจำเมื่อครบกำหนดพร้อมดอกเบี้ย  จนพ้นกำหนดไปอีกเจ็ดวันก็เป็นอันถือว่าผู้ฝากตกลงฝากต้นเงินฝากพร้อมดอกเบี้ยต่อไปอีกเท่าระยะเวลาเดิม

หมวด  4

การถอนเงินฝากและการปิดบัญชี

            ข้อ 12.  การถอนเงินจากบัญชีเงินฝาก ต้องใช้ใบถอนเงินตามแบบของสหกรณ์

            ในการถอนเงินฝาก ผู้มีอำนาจถอนเงินตามที่ได้ให้ตัวอย่างลายมือชื่อไว้ต่อสหกรณ์ ควรมารับเงิน ที่สำนักงานสหกรณ์ด้วยตนเอง  และต้องยื่นใบถอนเงินฝากโดยลงลายมือชื่อตามที่ให้ตัวอย่างไว้นั้น พร้อมกับสมุดคู่ฝากต่อเจ้าหน้าที่สหกรณ์

            ถ้าผู้มีอำนาจถอนเงินฝากจะมอบให้ผู้ใดถอนเงินแทน  ก็ต้องทำใบถอนเงินฝากและต้องมอบอำนาจให้รับเงินแทนเป็นหนังสือได้ด้านหลังของใบถอนเงินฝากนั้นด้วย  ทั้งนี้ โดยลงลายมือชื่อ ตามที่ได้ให้ตัวอย่างไว้แล้วมอบให้ผู้รับมอบอำนาจยื่นใบถอนเงินฝากนั้น  พร้อมด้วยสมุดคู่ฝากต่อเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์  ณ  สำนักงานสหกรณ์  ในการนี้สหกรณ์จะเรียกหลักฐานพิสูจน์ตัวผู้รับมอบอำนาจก็ได้

            เมื่อสหกรณ์ได้ตรวจถูกต้องแล้วจะจ่ายเงินถอนให้  และลงรายการเงินถอนพร้อมทั้งเงินคงเหลือในสมุดคู่ฝากและคืนสมุดคู่ฝากให้ผู้ฝาก

            อนึ่ง การเขียนใบถอนเงินฝากให้เขียนด้วยหมึก  ถ้ามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆ   ผู้มีอำนาจถอนเงินต้องลงลายมือชื่อตามที่ให้ตัวอย่างไว้กำกับด้วย

            ข้อ 13.  การถอนเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์นั้นจะถอนเมื่อใด จำนวนเท่าใดก็ได้

ส่วนการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำนั้น  ผู้ฝากย่อมไม่มีสิทธิถอนเงินก่อนครบกำหนด  แต่เมื่อผู้ฝากยื่นคำขอเป็นหนังสือโดยชี้แจงความจำเป็น สหกรณ์จะยอมให้ถอนเงินฝากก่อนครบกำหนดก็ได้

            ข้อ 14.  ผู้ฝากจะถอนเงินฝากคงเหลือทั้งหมดเพื่อปิดบัญชีเงินฝากของตนเมื่อใดก็ได้  ให้ผู้มีอำนาจถอนเงินจดแจ้งไว้ท้ายรายการจำนวนเงินในใบถอนเงินฝากด้วยว่า “เพื่อปิดบัญชี”

            ข้อ 15.  ในกรณีที่ผู้ฝากตาย  สหกรณ์จะจ่ายคืนเงินคงเหลือทั้งหมดในบัญชีเงินฝากให้แก่ผู้รับโอนประโยชน์ที่ได้ตั้งไว้ หรือถ้ามิได้ตั้งไว้ก็คืนให้แก่บุคคลที่ได้นำหลักฐานมาแสดงให้เป็นที่พอใจคณะกรรมการดำเนินการว่าเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับเงินจำนวนดังกล่าวนั้น

            ข้อ 16.  ในกรณีที่คณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์เห็นว่าผู้ฝากฝ่าฝืนระเบียบนี้  หรือก่อให้เกิดความยุ่งยากแก่สหกรณ์  หรือเห็นว่ามีเหตุอันสมควรที่จะปิดบัญชีเงินฝากของผู้ฝาก  สหกรณ์จะไม่รับเงินเข้าบัญชีเงินฝากของผู้ฝากอีก  และให้ผู้ฝากถอนเงินคงเหลือทั้งหมดเพื่อปิดบัญชีเงินฝากของตน ทั้งนี้ สหกรณ์จะแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้ฝาก

            ข้อ 17.  การถอนเงินฝากเพื่อปิดบัญชีตามข้อ 14 และ ข้อ 15 สหกรณ์จะคำนวณดอกเบี้ยให้ตามข้อ 11 ถึงวันก่อนวันถอนหนึ่งวัน เว้นแต่การปิดบัญชีเงินฝากในกรณีผู้ฝากฝ่าฝืนระเบียบตามข้อ 16  สหกรณ์จะคำนวณดอกเบี้ยให้ถึงก่อนวันที่แจ้งหนึ่งวัน และสหกรณ์จะไม่ให้ดอกเบี้ยอีกไม่ว่าผู้ฝากจะถอนเงินเมื่อใด

            เมื่อสหกรณ์ได้จ่ายเงินคืนผู้ฝากแล้ว  จะยกเลิกสมุดคู่ฝากสำหรับบัญชีนั้น

ให้ประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์เป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้

                                    ประกาศ  ณ  วันที่   5   ตุลาคม  พ.ศ 2560