ว่าด้วย การให้เงินกู้แก่สมาชิก พ.ศ. 2559

พ.ศ. 2559

———————————————

อาศัยอำนาจตามความในข้อบังคับสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24  จำกัด  ข้อ 11(1)  และข้อ  107(3)  ที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ ชุดที่ 46 ครั้งที่ 7/2559 เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2559 ได้มีมติกำหนดระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24 จำกัด ว่าด้วยการให้เงินกู้แก่สมาชิก พ.ศ. 2559 ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24 จำกัด ว่าด้วยการให้เงินกู้แก่สมาชิก พ.ศ. 2559”

ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่  25  เมษายน 2559 เป็นต้นไป

ข้อ 3 ให้ยกเลิก

        3.1 ระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24 จำกัด ว่าด้วยการให้เงินกู้แก่สมาชิก พ.ศ. 2557

3.2 ระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24 จำกัด ว่าด้วยการให้เงินกู้แก่สมาชิก พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2  พ.ศ. 2557

บรรดาระเบียบ ประกาศ คำสั่ง มติ หรือข้อตกลงอื่นใดซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ และให้ ใช้ระเบียบนี้แทน

ข้อ 4 ในระเบียบนี้

“สหกรณ์” หมายถึง สหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24 จำกัด

“สมาชิก” หมายถึง สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24 จำกัด

“คณะกรรมการ” หมายถึง คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24 จำกัด

“ประธานกรรมการ”  หมายถึง ประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24 จำกัด

“คณะกรรมการเงินกู้” หมายถึง คณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการดำเนินการ ตามข้อบังคับข้อ 83

หมวด 1

ข้อกำหนดทั่วไป

ข้อ 5  ในระเบียบนี้สหกรณ์ให้เงินกู้แก่สมาชิก 3 ประเภท คือ

  • เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน
  • เงินกู้สามัญ
  • เงินกู้พิเศษ

ข้อ 6  สหกรณ์จะให้เงินกู้เฉพาะแก่สมาชิกตามข้อบังคับข้อ 31 เท่านั้น และผู้กู้ต้องมีทุนเรือนหุ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละสามสิบ ของวงเงินที่ขอกู้

กรณีเงินกู้ไม่เกินหกแสนบาท  สมาชิกสหกรณ์ต้องเป็นสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจ (สสอต.)

กรณีเงินกู้เกินกว่าหกแสนบาท  สมาชิกสหกรณ์ต้องเป็นสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจ (สสอต.) และเป็นสมาชิกฌาปนกิจสงเคราะห์ สหกรณ์สมาชิกของชุมนุมสหกรณ์ (สส.ชสอ.)

กรณีสมาชิกสหกรณ์มิได้เป็นสมาชิกสมาคมดังกล่าว ให้คณะกรรมการพิจารณาหลักประกันอื่นที่เห็นสมควร อาทิเช่น เงินฝากต่อสหกรณ์, พันธบัตรรัฐบาล, กรมธรรม์ประกันชีวิต 

ข้อ 7  การให้เงินกู้แก่สมาชิกนั้น   จะให้ได้เฉพาะกรณีเพื่อการอันจำเป็น    หรือมีประโยชน์ตามที่คณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควร แต่จะให้เงินกู้เพื่อการสุรุ่ยสุร่ายหรือการเก็งกำไรไม่ได้

ข้อ 8  สมาชิกผู้ประสงค์ขอกู้เงิน  ต้องเสนอคำขอกู้ต่อสหกรณ์ตามแบบที่กำหนดไว้  รวมถึงเสนอคำขอกู้ตามลำดับที่สหกรณ์กำหนด

ข้อ 9  การให้เงินกู้ทุกประเภทนั้น  ผู้กู้ต้องทำหนังสือกู้และสมาชิกผู้ค้ำประกัน (ถ้ามี)  ต้องทำหนังสือค้ำประกันให้ไว้ต่อสหกรณ์ตามแบบที่กำหนดไว้

ข้อ 10  การส่งงวดชำระหนี้เงินกู้ทุกประเภท ซึ่งผู้กู้ต้องส่งต่อสหกรณ์นั้น ให้ส่งโดยวิธีหักจากเงินได้รายเดือนของผู้กู้ ณ ที่จ่าย และการส่งเงินงวดชำระหนี้เงินกู้ทุกประเภท ดอกเบี้ยเงินกู้ รวมทั้งเงินอื่นๆ ของสมาชิกรวมกัน จะต้องไม่เกินเงินได้รายเดือนสุทธิของสมาชิกนั้น  ให้ถือว่าเงินงวดชำระหนี้แต่ละงวดถึงกำหนดส่งภายในวันสิ้นเดือนนั้น ๆ

หมวด 2

เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน

          ข้อ 11  การให้กู้เพื่อเหตุฉุกเฉินมี 3 ประเภท ดังนี้

(1) เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินทั่วไป

(2) เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินพิเศษ

(3) เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินหมุนเวียน

การให้เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน คณะกรรมการดำเนินการอาจมอบอำนาจให้ประธานกรรมการหรือรองประธานกรรมการ  หรือกรรมการดำเนินการ หรือผู้จัดการ ตามที่เห็นสมควร เป็นผู้วินิจฉัยให้เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินแทนคณะกรรมการดำเนินการก็ได้  และให้ผู้ได้รับมอบดังกล่าวนั้น แถลงรายการเงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินที่ให้ไปและส่งคืน เพื่อให้คณะกรรมการดำเนินการทราบทุกเดือน

ข้อ 12  เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินที่ให้แก่สมาชิกผู้กู้คนหนึ่ง ๆ นั้น ให้มีจำนวน  ดังนี้

  • เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินทั่วไป  หรือเงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินหมุนเวียน ไม่เกิน  100,000 บาท  ให้สมาชิกกู้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง

(2) เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินพิเศษ  เพื่อจ่ายเงินฌาปนกิจสงเคราะห์  วงเงินกู้ไม่เกินจำนวนเงินที่ต้องจ่ายจริงให้แก่สมาคมฌาปนกิจในกลุ่มของสหกรณ์ออมทรัพย์

               การขอรับเงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินหมุนเวียน สหกรณ์จะจ่ายเงินโดยโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทยของผู้กู้เท่านั้น

ข้อ 13 ให้ผู้กู้ส่งคืนเงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินเต็มจำนวน พร้อมด้วยดอกเบี้ยภายในวันสิ้นเดือนที่คิดดอกเบี้ยเดือนแรก หรือให้ส่งเป็นงวดรายเดือนรวมกันไม่เกินสิบสองงวด

คณะกรรมการดำเนินการ อาจพิจารณาให้เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินแก่สมาชิกที่ยังส่งเงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินไม่เสร็จก็ได้ แต่สมาชิกผู้กู้รายนั้นจะต้องส่งคืนเงินกู้เพื่อชำระหนี้มาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งงวด

หมวด 3

เงินกู้สามัญ

ข้อ 14 การให้เงินกู้สามัญ

ให้คณะกรรมการดำเนินการ มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยให้เงินกู้สามัญแก่สมาชิก โดยคำนึงถึงความต้องการเงินกู้ที่แท้จริง ตามควรแก่ฐานะและความสามารถชำระหนี้ของสมาชิกผู้นั้น คณะกรรมการดำเนินการอาจแต่งตั้งคณะกรรมการเงินกู้ขึ้น ตามความในข้อบังคับของสหกรณ์ ข้อ 83 และมอบอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยให้เงินกู้สามัญแก่สมาชิกได้

ข้อ 15 จำนวนเงินกู้สามัญ   เงินกู้สามัญที่ให้แก่สมาชิกผู้กู้คนหนึ่ง ๆ นั้น  ย่อมสุดแต่คณะกรรมการดำเนินการจะพิจารณาเห็นสมควร ดังนี้

(1) เป็นสมาชิกไม่น้อยกว่า      6  เดือน    กู้ได้ไม่เกิน   300,000 บาท

(2) เป็นสมาชิกไม่น้อยกว่า     12  เดือน   กู้ได้ไม่เกิน    600,000 บาท

(3) เป็นสมาชิกไม่น้อยกว่า     24  เดือน   กู้ได้ไม่เกิน  1,000,000 บาท

(4) เป็นสมาชิกไม่น้อยกว่า     36  เดือน   กู้ได้ไม่เกิน  1,500,000 บาท

(5) เป็นสมาชิกไม่น้อยกว่า     48  เดือน   กู้ได้ไม่เกิน  1,800,000 บาท

(6) เป็นสมาชิกไม่น้อยกว่า     60  เดือน   กู้ได้ไม่เกิน  2,000,000 บาท

ในกรณีที่สมาชิกผู้กู้เงินสามัญ  โดยมีหุ้นเป็นหลักประกันให้กู้ได้ภายในจำนวนไม่เกินร้อยละ 90 ของค่าหุ้นทั้งหมดที่เป็นหลักประกัน

ข้อ 16 วิธีการคำนวณจำนวนเงินกู้สามัญให้พิจารณาจากอายุการดำรงสภาพสมาชิกสหกรณ์ และเงินงวดที่ต้องชำระรายเดือน ดังนี้

(1) จำนวนเงินกู้สามัญ สำหรับสมาชิกสหกรณ์ เงินงวดชำระหนี้รายเดือน ต้องไม่เกินร้อยละหกสิบของเงินเดือนรวมเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ

(2) กรณีที่นำเงินประจำตำแหน่งมารวมในการคำนวณ ให้สามารถนำเงินประจำตำแหน่งมารวมได้ ไม่เกินสามพันบาท และต้องชำระเงินกู้ให้เสร็จสิ้นภายในอายุไม่เกิน 60 ปีของผู้กู้

ข้อ 17  ให้ผู้กู้ส่งคืนเงินกู้สามัญพร้อมดอกเบี้ยภายในระยะเวลาไม่เกิน  144  งวด

คณะกรรมการดำเนินการ อาจพิจารณาให้เงินกู้สามัญแก่สมาชิกที่ยังส่งเงินกู้สามัญไม่เสร็จก็ได้ แต่สมาชิกผู้กู้รายนั้นจะต้องส่งคืนเงินกู้เพื่อชำระหนี้มาแล้วไม่น้อยกว่าหกเดือน

หมวด 4

เงินกู้พิเศษ

ข้อ 18  การให้เงินกู้พิเศษนั้น ให้เพื่อการศึกษาหรือการจัดหาอุปกรณ์เพื่อการศึกษาของสมาชิก วงเงินไม่เกิน 30,000 บาท ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงความสามารถในการผ่อนชำระของสมาชิก และในการส่งงวดชำระหนี้เงินกู้พิเศษพร้อมดอกเบี้ย ให้ชำระให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาหนึ่งปี

คณะกรรมการดำเนินการอาจแต่งตั้งคณะกรรมการเงินกู้ขึ้น ตามความในข้อบังคับของสหกรณ์ ข้อ 83 และมอบอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยให้เงินกู้พิเศษแก่สมาชิกได้

          ข้อ 19  สมาชิกมีสิทธิขอกู้เงินพิเศษได้เมื่อเป็นสมาชิกในสหกรณ์นี้ติดต่อกันมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน

          ข้อ 20  สมาชิกที่กู้เงินกู้พิเศษไปแล้วและยังอยู่ระหว่างชำระหนี้คืนสหกรณ์ มีสิทธิที่จะขอกู้เงินประเภทเงินกู้สามัญ หากมีเงินได้รายเดือนเพียงพอในการหักชำระหนี้ได้ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการดำเนินการ

ข้อ 21  คณะกรรมการดำเนินการ  อาจพิจารณาให้เงินกู้พิเศษแก่สมาชิกที่ยังส่งเงินกู้พิเศษไม่เสร็จก็ได้  แต่สมาชิกผู้กู้รายนั้น จะต้องส่งคืนเงินกู้เพื่อชำระหนี้มาแล้วไม่น้อยกว่าสี่เดือน

หมวด 5

หลักประกันเงินกู้

          ข้อ 22  สหกรณ์กำหนดหลักประกันสำหรับเงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน เงินกู้สามัญ และเงินกู้พิเศษ ไว้ดังนี้

  • เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินทุกประเภท ในกรณีที่เงินกู้เกินว่า 50,000 บาท หรือเป็นสมาชิกไม่ครบสามเดือน ให้มีสมาชิกสหกรณ์เป็นผู้ค้ำประกันหนึ่งคน
  • เงินกู้สามัญ  ให้มีหลักประกันเงินกู้ดังนี้
  • สมาชิกสหกรณ์เป็นผู้ค้ำประกันไม่น้อยกว่าสองคน หรือ
  • ในกรณีที่มีสมาชิกสหกรณ์เป็นผู้ค้ำประกันหนึ่งคน ให้มีหลักประกันอื่นตามที่คณะกรรมการมีมติเห็นสมควรโดยคำนึงถึงวงเงินกู้เป็นสำคัญ

(3) เงินกู้พิเศษ   ให้มีสมาชิกสหกรณ์เป็นผู้ค้ำประกันอย่างน้อยหนึ่งคนหรือ   ให้มีหลักประกันอื่นตามที่        คณะกรรมการมีมติเห็นสมควรโดยคำนึงถึงวงเงินกู้เป็นสำคัญ

หมวด 6

ดอกเบี้ย

          ข้อ 23  ดอกเบี้ยเงินกู้นั้น ให้คิดเป็นรายวันตามจำนวนเงินต้นคงเหลือ

          ข้อ 24  สหกรณ์อาจเรียกดอกเบี้ยเงินกู้แต่ละประเภทในอัตราไม่เกินร้อยละ  15  บาทต่อปี   โดยจะได้ประกาศให้สมาชิกทราบเป็นคราว ๆ ไป

หมวด 7

การควบคุมหลักประกันการเรียกคืนและการผ่อนผันการเรียกคืนเงินกู้

          ข้อ 25  ให้คณะกรรมการตรวจสอบ ควบคุมให้เงินกู้ทุกรายมีหลักค้ำประกันเงินกู้ ตามระเบียบนี้ เมื่อพบว่าสัญญาเงินกู้รายใดหลักประกันเงินกู้บกพร่อง   ให้รีบแจ้งให้สมาชิกผู้กู้ทราบโดยไม่ชักช้า  เพื่อให้จัดการแก้ไขตามระเบียบการกู้เงินประเภทนั้น ๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด

          ข้อ 26  ในกรณีต่อไปนี้ ให้ถือว่าเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยครบกำหนดส่งคืนโดยสิ้นเชิงโดยมิพักต้องคำนึงถึงกำหนดเวลาเงินงวดเพื่อชำระหนี้ที่ให้ไว้กับสหกรณ์ ซึ่งคณะกรรมการจะต้องเรียกคืนโดยไม่ชักช้า

(1)  เมื่อสมาชิกผู้กู้  ออกจากสหกรณ์ไม่ว่ากรณีใด ๆ

(2)  เมื่อคณะกรรมการ   พบว่าหลักประกันเงินกู้บกพร่อง   และผู้กู้มิได้จัดการแก้ไขให้คืนดีตามที่คณะกรรมการกำหนด        

(3)  เมื่อค้างส่งเงินงวดชำระหนี้ติดต่อกันตั้งแต่  2  งวด  หรือขาดการส่งเงินงวดเพื่อชำระหนี้ถึง 3 คราว (สามคราว) สำหรับเงินกู้แต่ละสัญญา 

(4)  เมื่อปรากฏแก่คณะกรรมการดำเนินการว่า  ผู้กู้นำเงินไปใช้ผิดความมุ่งหมายที่ให้เงินกู้นั้น

          ข้อ 27  ในกรณีที่เงินกู้เป็นอันต้องส่งคืนโดยสิ้นเชิงและผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชอบชำระหนี้แทนผู้กู้ และไม่สามารถชำระหนี้นั้นโดยสิ้นเชิงได้   เมื่อผู้ค้ำประกันร้องขอ    คณะกรรมการดำเนินการอาจผ่อนผันให้เรียกจากผู้ค้ำเป็นรายเดือน  จนเสร็จตามที่ผู้กู้ได้ทำหนังสือกู้ไว้ต่อสหกรณ์ก็ได้ สุดแต่จะพิจารณาเห็นสมควร

          ข้อ 28  สมาชิกผู้กู้ก็ดี สมาชิกผู้ค้ำประกันก็ดี ต้องรับผูกพันว่าถ้าตนขาดจากสมาชิกภาพของสหกรณ์  ตามข้อบังคับสหกรณ์ ข้อ 40 อนุ 2  อนุ 4  อนุ 5 และอนุ 6 จะต้องแจ้งเป็นหนังสือต่อสหกรณ์ และจัดการชำระหนี้ให้เสร็จสิ้น

กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้  หรือไม่อาจปฏิบัติตามระเบียบนี้ได้ให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24 จำกัด เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด

ให้ประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24 จำกัด เป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้

                                    ประกาศ  ณ  วันที่    25   เมษายน  พ.ศ. 2559