ว่าด้วย การเร่งรัดติดตามหนี้ค้างชำระสหกรณ์ พ.ศ.2565

แนบเอกสาร ระเบียบ ว่าด้วยการเร่งรัดติดตามหนี้ค้างชำระสหกรณ์ พ.ศ.2565

ระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24 จำกัด

ว่าด้วย  การเร่งรัดติดตามหนี้ค้างชำระสหกรณ์  พ.ศ. 2565

************************

อาศัยอำนาจตามความในข้อบังคับสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24 จำกัด ข้อ 80(5) และข้อ 117(11) ที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ ชุดที่ 52 ครั้งที่ 11/2565 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 ได้มีมติกำหนดระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24 จำกัด ว่าด้วย การเร่งรัดติดตามหนี้ค้างชำระสหกรณ์ พ.ศ. 2565 ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24 จำกัด ว่าด้วย การเร่งรัดติดตามหนี้ค้างชำระสหกรณ์  พ.ศ. 2565”

ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศระเบียบนี้ เป็นต้นไป

ข้อ 3 ในระเบียบนี้

“สหกรณ์” หมายถึง สหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24 จำกัด

“ข้อบังคับ” หมายถึง ข้อบังคับสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24 จำกัด

“คณะกรรมการ” หมายถึง คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24 จำกัด

“ประธานกรรมการ” หมายถึง ประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24 จำกัด

“คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายและไกล่เกลี่ยข้อพิพาท” หมายถึง คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24 จำกัด

“สมาชิก” หมายถึง สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24 จำกัด

 “ลูกหนี้” หมายถึง สมาชิกที่มีหนี้อยู่กับสหกรณ์หรือผู้ที่รับชำระหนี้แทนหรือผู้ที่มีภาระชำระหนี้แทนสมาชิกที่มีหนี้เงินกู้ทุกประเภทกับสหกรณ์หรือผู้รับสภาพหนี้

“ขาดส่ง” หมายถึง ขาดส่งเงินค่าหุ้น

“ค้างส่ง” หมายถึง ค้างส่งเงินงวดชำระหนี้ไม่ครบตามจำนวนที่สหกรรณ์ส่งเรียกเก็บหรือที่ต้องผ่อนชำระตามงวดแก่สหกรณ์

“ผิดนัดชำระหนี้” หมายถึง การที่ลูกหนี้ค้างชำระหนี้ไม่ว่าเงินต้นหรือค่าดอกเบี้ยล่าช้าเกินกำหนดเวลาตามระเบียบ ว่าด้วยเงินให้กู้แก่สมาชิก

 “หนึ่งคราว” หมายถึง หนึ่งครั้ง

ข้อ 4 วัตถุประสงค์ของการเร่งรัดติดตามหนี้ค้างชำระสหกรณ์มี ดังนี้

(1) เพื่อให้สมาชิกไม่มีหนี้ค้างชำระกับสหกรณ์

(2) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการติดตามหนี้ให้มีประสิทธิภาพ

(3) เพื่อให้สมาชิกเกิดความรับผิดชอบในการชำระหนี้

(4) เพื่อให้เกิดแนวทางปฏิบัติงานที่ชัดเจนแก่สหกรณ์

(5) เพื่อไม่ให้เกิดหนี้สูญ

(6) เพื่อให้สหกรณ์เกิดความมั่นคง

หมวด 1

มาตรการเร่งรัดและติดตามหนี้ค้างชำระ

ข้อ 5 เมื่อเกิดกรณีที่ลูกหนี้มีการผิดนัดชำระหนี้แก่สหกรณ์ให้ดำเนินการเร่งรัดติดตามหนี้ ดังนี้

5.1 กรณีผู้ผิดนัดชำระหนี้ โดยมิใช่สาเหตุที่เกิดจากการออกจากราชการ ให้ดำเนินการ ดังนี้

5.1.1  เมื่อผู้กู้ผิดนัดการชำระเงินงวดชำระหนี้ ไม่ว่าเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ย ให้สหกรณ์มีหนังสือบอกกล่าวการผิดนัดชำระหนี้ไปยังผู้กู้และผู้ค้ำประกันภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ผู้กู้ผิดนัดโดยหนังสือบอกกล่าวต้องแจ้งไปด้วยว่าให้ผู้กู้ติดต่อเพื่อชำระหนี้ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ โดยกำหนดวิธีการให้เป็นไปตามมาตรการแนวปฏิบัติติดตามหนี้ค้างชำระ

5.1.2  เมื่อครบกำหนดระยะเวลาให้ผู้กู้ชำระหนี้ตามข้อ 5.1.1แล้ว ผู้กู้ยังไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดและหากผู้กู้ผิดนัดชำระเงินงวดชำระหนี้ 2 งวดติดต่อกัน หรือผิดนัดการส่งเงินงวดชำระหนี้รวมสามคราวใน 1 ปี  ให้สหกรณ์มีหนังสือบอกกล่าวการผิดนัดชำระหนี้ไปยังผู้กู้และผู้ค้ำประกัน โดยให้ผู้กู้ชำระหนี้ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากสหกรณ์เห็นว่าผู้กู้รายดังกล่าวยังมีความสามารถที่จะชำระหนี้ได้ ให้นำเสนอคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเพื่อพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ หรือหากสหกรณ์เห็นว่าผู้กู้รายดังกล่าวมีเหตุสมควรที่จะต้องให้ออกจากการเป็นสมาชิกตามข้อบังคับของสหกรณ์ ให้รายงานคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและนำเสนอคณะกรรมการดำเนินการเพื่อพิจารณาลงมติ

หากคณะกรรมการดำเนินการมีมติให้ผู้กู้ออกจากการเป็นสมาชิกสหกรณ์ ให้สหกรณ์นำทุนเรือนหุ้น เงินฝาก หรือเงินอื่นใดที่ผู้กู้มีสิทธิได้รับจากสหกรณ์มาชำระหนี้ หากยังมีหนี้ของผู้กู้เหลืออยู่ ให้สหกรณ์แจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้ค้ำประกันทราบว่าผู้ค้ำประกันจะต้องชำระหนี้แทนผู้กู้ตามที่สหกรณ์ได้แจ้งไป ทั้งนี้ ต้องให้เวลาผู้ค้ำประกันไม่น้อยกว่า 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือหรือตามที่คณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควร

5.2 กรณีผู้กู้ออกจากราชการ โดยไม่ได้รับบำนาญ หรือบำเหน็จรายเดือน  ให้ดำเนินการ ดังนี้

5.2.1  เมื่อผู้กู้ผิดนัดการชำระเงินงวดชำระหนี้ ไม่ว่าเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ย ให้สหกรณ์มีหนังสือบอกกล่าวการผิดนัดชำระหนี้ไปยังผู้กู้และผู้ค้ำประกันภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ผู้กู้ผิดนัดโดยหนังสือบอกกล่าวต้องแจ้งไปด้วยว่าให้ผู้กู้ติดต่อเพื่อชำระหนี้ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว

5.2.2  ให้สหกรณ์แจ้งหนังสือถึงหน่วยงานต้นสังกัดโดยเร็ว เพื่อดำเนินการให้มีการนำเงินบำเหน็จปกติ หรือเงินอื่นใดที่สมาชิกผู้กู้มีสิทธิได้รับจากทางราชการมาชำระหนี้ให้สหกรณ์ ตามข้อสัญญาในหนังสือสัญญาเงินกู้

5.2.3  เมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่ให้ผู้กู้ชำระหนี้แล้วตาม ข้อ 5.2.1 แล้ว ผู้กู้ยังไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด และหากผู้กู้ผิดนัดชำระเงินงวดชำระหนี้ 2 งวดติดต่อกัน หรือผิดนัดการส่งเงินงวดชำระหนี้รวมสามคราว  ให้สหกรณ์มีหนังสือบอกกล่าวการผิดนัดชำระหนี้ไปยังผู้กู้และผู้ค้ำประกัน โดยให้ผู้กู้ชำระหนี้โดยเร็ว ทั้งนี้ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว  กรณีดังกล่าวหากสหกรณ์เห็นว่าผู้กู้รายดังกล่าวมีทางที่จะชำระหนี้ได้ ให้นำเสนอคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเพื่อพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ หรือหากสหกรณ์เห็นว่าผู้กู้รายดังกล่าวมีเหตุสมควรที่จะต้องให้ออกจากการเป็นสมาชิกตามข้อบังคับของสหกรณ์ ให้รายงานคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนำเสนอคณะกรรมการดำเนินการเพื่อพิจารณาลงมติ

หากคณะกรรมการดำเนินการมีมติให้ผู้กู้ออกจากการเป็นสมาชิก ให้สหกรณ์นำทุนเรือนหุ้น เงินฝาก หรือเงินอื่นใดที่ผู้กู้มีสิทธิได้รับจากสหกรณ์มาชำระหนี้ หากยังมีหนี้ของผู้กู้เหลืออยู่ ให้สหกรณ์แจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้ค้ำประกันทราบว่าผู้ค้ำประกันจะต้องชำระหนี้แทนผู้กู้ตามจำนวนเงินที่สหกรณ์ได้แจ้งไป  ทั้งนี้ ต้องให้เวลาผู้ค้ำประกันไม่น้อยกว่า 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือ หรือตามที่คณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควร

5.3 กรณีผู้กู้ถึงแก่ความตาย  ให้ดำเนินการ ดังนี้

เมื่อสหกรณ์ได้ทราบว่าผู้กู้ถึงแก่ความตาย ให้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการดำเนินการเพื่อนำทุนเรือนหุ้น เงินปันผล เงินเฉลี่ยคืน เงินทุนสวัสดิการสงเคราะห์ เงินสงเคราะห์สมาชิกผู้เสียชีวิต เงินค่าสินไหมประกันกลุ่ม(ถ้ามี) หักชำระหนี้ของผู้กู้ตามข้อ 6 ข้อ 40(1) และข้อ 45 แห่งข้อบังคับของสหกรณ์ หากเงินดังกล่าวไม่พอชำระหนี้ให้ดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้

5.3.1  ให้สหกรณ์แจ้งหนังสือถึงหน่วยงานต้นสังกัดและทายาทโดยเร็ว หรือบุคคลซึ่งสมาชิกผู้กู้ที่ถึงแก่ความตายได้แสดงเจตนาให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตกทอด ตามกฎหมายว่าด้วยเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือบำเหน็จตกทอดตามระเบียบว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง แล้วแต่กรณี และเงินอื่นใดที่ทายาทมีสิทธิได้รับจากทางราชการ ยินยอมให้นำเงินดังกล่าวชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์

5.3.2  เมื่อดำเนินการตาม ข้อ 5.3.1 แล้ว ยังมีหนี้ของผู้กู้เหลืออยู่ ถ้าผู้กู้ที่ถึงแก่ความตายมีเงินฝากและดอกเบี้ยไว้กับสหกรณ์ ให้สหกรณ์หักเงินดังกล่าวชำระหนี้

หากสมาชิกผู้กู้ที่ถึงแก่ความตายเป็นสมาชิก สสอต. สส.ชสอ. สสอค. สส.รท. หรือ กบข. ให้สหกรณ์ดำเนินการตามหนังสือพินัยกรรมหรือคำสั่งเสียของสมาชิกก่อนตาย หรือให้ทายาทหรือบุคคลซึ่งสมาชิกผู้กู้ที่ถึงแก่ความตายได้แสดงเจตนาให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวตกลงยินยอมให้นำเงินที่ได้จาก สสอต. สส.ชสอ. สสอค. สส.รท. หรือ กบข. มาชำระหนี้ให้สหกรณ์

5.3.3  เมื่อสหกรณ์ได้รับเงินดังกล่าวข้างต้นชำระหนี้แล้ว หากยังมีหนี้คงเหลือ ให้สหกรณ์ตกลงกับทายาทเพื่อชำระหนี้ที่เหลือแทนสมาชิกผู้กู้ที่ถึงแก่ความตายทั้งจำนวน กรณีทายาทมีเหตุจำเป็นขอชำระหนี้บางส่วนหรือขอผ่อนชำระหนี้บางส่วนหรือขอผ่อนชำระเป็นรายงวด ให้สหกรณ์รายงานคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนำเสนอคณะกรรมการดำเนินการเพื่อพิจารณาต่อไป

5.3.4  เมื่อคณะกรรมการดำเนินการมีมติอนุมัติแล้ว ให้สหกรณ์แจ้งทายาทมาทำสัญญาขอเข้าชำระหนี้แทน สัญญาขอรับสภาพหนี้ สัญญาผ่อนชำระไว้ต่อสหกรณ์ โดยให้มีผู้ค้ำประกันรายเดิมตกลงด้วยในการผ่อนเวลาชำระหนี้นั้น

5.3.5  เมื่อดำเนินการตาม ข้อ 5.3.1 และข้อ 5.3.2 แล้ว ยังมีหนี้คงเหลืออยู่ หรือกรณีทายาทเพิกเฉยปฏิเสธการชำระหนี้แทนสมาชิกผู้ตาย ให้สหกรณ์มีหนังสือเรียกทายาทของผู้กู้ที่ถึงแก่ความตายชำระหนี้คืนให้สหกรณ์ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ระบุในหนังสือดังกล่าว

5.3.6  เมื่อพ้นระยะเวลาตามข้อ 5.3.5 แล้ว ทายาทเพิกเฉยปฏิเสธไม่ชำระหนี้ ให้สหกรณ์แจ้งให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทนสมาชิกผู้กู้ที่ถึงแก่ความตายตามจำนวนหนี้คงเหลือและไม่เกินวงเงินที่ระบุในหนังสือสัญญาค้ำประกัน

5.3.7  กรกณีผู้ค้ำประกันยินยอมชำระหนี้แทนผู้กู้ ให้สหกรณ์รับชำระหนี้ทั้งจำนวนตามวงเงินค้ำประกัน หรือดำเนินการเพื่อหักเงินเดือนของผู้ค้ำประกันมาผ่อนชำระหนี้ตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน หากผู้ค้ำประกันไม่ยินยอมชำระหนี้แทน ให้สหกรณ์ดำเนินการฟ้องร้องคดีตามกฎหมายกับผู้ค้ำประกัน และทายาทสมาชิกผู้กู้ที่ถึงแก่ความตายภายในอายุความมรดก 1 ปี นับตั้งแต่วันที่สมาชิกผู้กู้ถึงแก่ความตาย

5.3.8  เมื่อคดีขึ้นสู่ศาล หากศาลให้โจทก์และจำเลยเจรจาไกล่เกลี่ยทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งถ้าตกลงกันได้ ศาลจะมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ หากไม่สามารถดำเนินการเจรจาไกล่เกลี่ยกันได้ ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดเป็นประการใดก็ให้ดำเนินการตามคำพิพากษาต่อไป

เพื่อเป็นการรักษาสิทธิประโยชน์ของสหกรณ์เรื่องอายุความ แม้ผู้ค้ำประกันจะยินยอมผ่อนชำระหนี้กับสหกรณ์แทนผู้กู้ที่ถึงแก่ความตายอยู่แล้วก็ตาม หากใกล้ครบกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่สมาชิกผู้กู้ถึงแก่ความตาย ให้สหกรณ์ดำเนินการตั้งฐานสิทธิฟ้องทายาทของสมาชิกผู้กู้ที่ถึงแก่ความตายและผู้ค้ำประกัน เพื่อป้องกันไม่ให้หนี้ขาดอายุความ และเพื่อมิให้ผู้ค้ำประกันยกอายุความมาเป็นเหตุปฏิเสธความรับผิดชอบตามข้อสัญญาในหนังสือค้ำประกัน เว้นแต่มีการฟ้องคดีกับผู้ค้ำประกันนั้น

การส่งหนังสือเตือนนั้น ให้นำส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ หรือจะให้เจ้าหน้าที่นำไปส่งด้วยตนเองก็ได้

เมื่อสิ้นปีทางบัญชี สมาชิกที่เป็นลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้สหกรณ์ไม่ว่าต้นเงิน/หรือดอกเบี้ยสหกรณ์มีสิทธิที่จะหักเงินปันผล เงินเฉลี่ยคืน หรือเงินอื่นใดที่สมาชิกมีสิทธิได้รับเพื่อชำระหนี้ให้กับสหกรณ์ก่อนเป็นลำดับแรก

เมื่อผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ไม่ว่ากรณีใดๆ หากส่วนบริหารงาน หน่วยงานต้นสังกัด หรือเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่จ่ายเงินแจ้งว่า ผู้กู้มีเงินที่มีสิทธิได้รับจากทางราชการและจ่ายให้สหกรณ์ ให้สหกรณ์ชะลอการเรียกเก็บหนี้จากผู้ค้ำประกันไว้ก่อน แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการดำเนินการถอนรายชื่อสมาชิกออกจากทะเบียนสมาชิก หรือตามที่คณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควร

ข้อ 6 ให้คณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายและไกล่เกลี่ยข้อพิพาท 1  คณะ ให้ดำเนินการประชุมอย่างน้อย เดือนละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจสอบ ติดตาม และกำหนดแนวทางในการเร่งรัดหนี้สินที่ค้างชำระสหกรณ์แล้วมอบหมายงานให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการ รวมทั้งให้รายงานผลการดำเนินงานแก่คณะกรรมการดำเนินการเพื่อทราบและหากการดำเนินการใด เป็นอำนาจหน้าที่การตัดสินใจของคณะกรรมการดำเนินการให้คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายและไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เสนอเรื่องเพื่อขออนุมัติจากคณะกรรมการดำเนินการเป็นกรณีไป

ให้คณะอนุกรรมการกฎหมายและไกล่เกลี่ยข้อพิพาท มีอำนาจในการเชิญลูกหนี้ และผู้ที่เกี่ยวข้องมาเจรจาหาแนวทางการชำระหนี้ของลูกหนี้

หมวด 2

การโอนหนี้และปรับโครงสร้างหนี้

ข้อ 7  ลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระค่างวดทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเกิน 2 งวดติดกัน หรือการส่งเงินงวดชำระหนี้ถึงสามคราวสำหรับเงินกู้รายหนึ่งๆ สหกรณ์จะพิจารณาดำเนินการให้ขาดสมาชิกภาพ

ข้อ 8 ในกรณีที่ลูกหนี้ได้ยื่นขอปรับโครงสร้างหนี้ ตามระเบียบ ว่าด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ของสมาชิกสหกรณ์ พ.ศ. 2563 ให้คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาเหตุผลของการที่ต้องมารับสภาพหนี้โอน และภาระหนี้ของตนเองที่มีต่อสหกรณ์ ภาระหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกัน อายุราชการที่เหลืออยู่ของลูกหนี้ ระยะเวลาการชำระหนี้คืน และรายได้เงินเดือนคงเหลือ ใช้เพื่อประกอบการพิจารณา

หากภายในกำหนดระยะเวลา 2 เดือน นับแต่วันที่คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาไม่อนุมัติให้ปรับโครงสร้างหนี้ ลูกหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องยินยอมเข้าเป็นผู้รับสภาพหนี้โอน โดยทันทีแต่สหกรณ์จะพิจารณาเรียกเก็บหนี้ในฐานะที่ลูกหนี้เป็นผู้กู้ในอันดับแรก และเรียกเก็บหนี้ในฐานะที่ลูกหนี้เป็นผู้ค้ำประกันในลำดับถัดไป จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น

หมวด 3

ข้อจำกัดสิทธิ

ข้อ 9  สมาชิกที่ผิดเงื่อนไขการชำระหนี้จะเสียสิทธิประโยชน์ดังต่อไปนี้

  • สิทธิได้รับเงินเฉลี่ยคืน กรณีผิดนัดชำระหนี้ไม่ว่าจะเป็นต้นเงินหรือดอกเบี้ยในปีใด
  • สิทธิได้รับเงินสวัสดิการต่าง ๆ กรณีเมื่อให้สมาชิกขาดจากสมาชิกภาพแล้ว
  • สิทธิกู้เงินและสิทธิค้ำประกันใดๆ จนกว่าชำระหนี้เป็นปกติ 12 งวดขึ้นไป

ข้อ 10  บุคคลใดถูกเพิกถอนจากการเป็นสมาชิกเพราะการผิดนัดชำระหนี้บุคคลนั้น จะขอเข้ามาเป็นสมาชิกอีกไม่ได้ เว้นแต่สมาชิกได้มีการชดใช้หนี้เดิมให้กับสหกรณ์

ผู้ค้ำประกันที่เข้ารับช่วงสิทธิในมูลหนี้เสร็จสิ้นแล้วโดยให้ส่งเอกสารหลักฐานการชำระให้กับสหกรณ์ทราบด้วย

หมวด 4

มาตรการ แนวปฏิบัติ ติดตามหนี้ค้างชำระและหุ้นขาดส่ง

ข้อ 11  มาตรการแนวปฏิบัติติดตามหนี้ค้างชำระ

11.1 ขาดส่งหุ้นรายเดือน

11.1.1 สมาชิกที่ขาดส่งหุ้นรายเดือน 1 งวด และ 2 งวดติดต่อกันให้แจ้งเตือนสมาชิกโดยทำเป็นหนังสือลงทะเบียนตอบรับทางไปรษณีย์

11.1.2 สมาชิกที่ขาดส่งหุ้นรายเดือน 3 งวดติดต่อกันหรือขาดส่งรวมถึง 6 งวดในรอบปีบัญชี สหกรณ์จะดำเนินการแจ้งสมาชิกโดยทำเป็นหนังสือลงทะเบียนตอบรับทางไปรษณีย์ เพื่อให้สมาชิกดำเนินการชำระค่าหุ้นภายในระยะเวลาที่กำหนด(ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ)

11.2 ค้างส่งหรือผิดนัดการชำระหนี้

11.2.1  เมื่อผู้กู้ผิดนัด ให้เจ้าหน้าที่หน่วย เร่งรัดหนี้ มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ผู้กู้ผิดนัดโดยส่งจดหมายลงทะเบียนตอบรับทางไปรษณีย์

11.2.2  สมาชิกที่ค้างส่งชำระหนี้ 1 เดือน แจ้งเตือนผู้กู้และผู้ค้ำประกัน ติดต่อทวงถาม

11.2.3  สมาชิกที่ค้างส่งชำระหนี้ 2 เดือน ติดต่อบอกกล่าวทวงถามเตือนผู้กู้และผู้ค้ำประกัน และหากไม่ชำระหนี้เสร็จสิ้น ให้ดำเนินการปฏิบัติงานเร่งรัดติดตามทวงตามหนี้ ณ สถานที่อยู่หรือภูมิลำเนาของลูกหนี้ แจ้งหักเงินชำระหนี้จากผู้ค้ำประกัน

11.2.4  สมาชิกที่ค้างส่งชำระหนี้ 3 เดือน ติดต่อทวงถาม แจ้งเตือนผู้กู้และผู้ค้ำประกัน และดำเนินการปฏิบัติงานเร่งรัดติดตามทวงตามหนี้

11.2.5  เมื่อสิ้นปีทางบัญชี สมาชิกที่เป็นลูกหนี้ค้างชำระสหกรณ์ไม่ว่าต้นเงินหรือดอกเบี้ยสหกรณ์จะหักเงินที่คาดว่าจะเป็นเงินปันผลและเงินเฉลี่ยที่จะได้รับ(ฐานการคิดคำนวณปันผลและเงินเฉลี่ยคืน)ชำระหนี้สหกรณ์ คงเหลือสุทธิเท่าไร ให้เป็นสิทธิเรียกร้องเงินปันผลเฉลี่ยคืน

หากสมาชิกไม่ดำเนินการส่งค่าหุ้นรายเดือนตามข้อ 11.1.2 และค้างส่งหรือผิดนัดชำระหนี้ตามข้อ 11.2.3, 11.2.4 หรือไม่ดำเนินการติดต่อสหกรณ์เพื่อขอให้สหกรณ์ดำเนินการช่วยเหลือ สหกรณ์จะเสนอให้คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาให้สมาชิกออกจากสหกรณ์ตามข้อบังคับของสหกรณ์ข้อ 43 มีผลทำให้ขาดสมาชิกภาพและให้นำเงินค่าหุ้น เงินฝากหรือ เงินใดที่ผู้กู้มีอยู่กับสหกรณ์มาหักชำระหนี้ให้กับสหกรณ์ หากมีหนี้ยังคงค้างชำระเหลืออยู่กับสหกรณ์จะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ข้อ 12 กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้ หรือไม่อาจปฏิบัติตามระเบียบนี้ได้ให้คณะกรรมการเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด

ข้อ 13  ให้ประธานกรรมการเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้

                                         ประกาศ  ณ  วันที่     9     กันยายน  พ.ศ. 2565