ว่าด้วย การปรับโครงสร้างหนี้ของสมาชิกสหกรณ์ พ.ศ. 2563

*********************************

อาศัยอำนาจตามความในข้อบังคับของสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24  จำกัด ข้อ 11(1) และข้อ 107(3) (11)  ที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ ครั้งที่ 8/2563 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 ได้กำหนดระเบียบสหกรณ์  ว่าด้วยการให้เงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ของสมาชิก  ดังต่อไปนี้

ข้อ 1   ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24 จำกัด ว่าด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ของสมาชิกสหกรณ์ พ.ศ. 2563”

ข้อ 2   ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่  13  เมษายน 2563   เป็นต้นไป

ข้อ 3   ในระเบียบนี้

“สหกรณ์”  หมายถึง  สหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24  จำกัด

“สมาชิก” หมายถึง  สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24 จำกัด

“ประธานกรรมการ”  หมายถึง  ประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24 จำกัด

“คณะกรรมการ” หมายถึง  คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24 จำกัด

“ผู้กู้” หมายถึง  สมาชิกซึ่งเป็นผู้กู้เงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24 จำกัด

“ผู้ค้ำประกัน” หมายถึง  สมาชิกผู้ค้ำประกันเงินกู้ให้กับผู้กู้

“ภาระหนัก” หมายถึง ภาระหนี้สินที่มีเป็นจำนวนมากจนสมาชิกไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ

ข้อ 4   วัตถุประสงค์ของการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยเหลือสมาชิกดังนี้

  •  ผ่อนคลายภาระหนักในการชำระหนี้ของสมาชิก
  •  เพิ่มขีดความสามารถในการชำระหนี้และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้กู้หรือผู้ค้ำประกัน

ข้อ 5   หนี้ที่เกิดจากการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์แห่งเงินกู้ จะไม่ได้รับการพิจารณาให้ปรับโครงสร้างหนี้ตามระเบียบนี้

ข้อ 6   หนี้ที่จะสามารถขอปรับโครงสร้างหนี้ได้ ต้องมีลักษณะดังนี้

(1) หนี้ที่มีอยู่เป็นภาระหนัก   โดยพิจารณาแล้วมีเงินได้คงเหลือสุทธิไม่เพียงพอในการชำระหนี้  หรือไม่เพียงพอแก่การดำรงชีพ

(2) หนี้ที่มีอยู่เป็นภาระหนัก อันเกิดจากเหตุสุจริตหรือเหตุอันจำเป็น ได้แก่ เหตุจากภัยธรรมชาติ ภัยพิบัติ ปัญหาด้านสุขภาพ หรือต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน

ข้อ 7   สมาชิกที่จะขอปรับโครงสร้างหนี้ได้ ต้องมีลักษณะดังนี้

  •  เป็นผู้กู้ที่มีภาระหนี้สินเป็นจำนวนมากจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ โดยให้พิจารณาจากรายได้และรายจ่ายตามรายละเอียดบัญชีเงินเดือนของสมาชิกและหลักฐานอื่นใดที่เกี่ยวข้อง และ
  •  ต้องปรากฏว่ามีรายได้คงเหลือสุทธิไม่เพียงพอในการชำระหนี้ หรือไม่เพียงพอแก่การดำรงชีพ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ค้ำประกัน หรือ
  • เป็นผู้ค้ำประกันที่ต้องรับภาระการชำระหนี้แทนผู้กู้  โดยหนี้นั้นเป็นภาระหนักอันเกิดจากเหตุสุจริตหรือเหตุอันจำเป็น
  •  สมัครใจและยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้

ข้อ 8   สมาชิกที่ประสงค์จะปรับโครงสร้างหนี้ ให้ยื่นคำขอพร้อมเอกสารประกอบการพิจารณาตามแบบที่สหกรณ์กำหนด รวมทั้งเอกสารที่แสดงให้เห็นว่ามีภาระหนัก

ข้อ 9   ให้คณะกรรรมการเงินกู้สอบสวนเบื้องต้นให้ได้ข้อความจริงเกี่ยวกับหนี้ของสมาชิกที่ขอปรับโครงสร้างหนี้ให้เป็นไปตามข้อ 6  และข้อ 7  เพื่อเสนอความเห็นให้คณะกรรมการพิจารณา

ข้อ 10   คณะกรรมการจะพิจารณาให้สมาชิกผู้กู้  หรือผู้ค้ำประกันปรับโครงสร้างหนี้ได้ตามวิธีการ ดังต่อไปนี้

ให้นำต้นเงินกู้ที่ค้างชำระมาปรับงวดชำระหนี้ใหม่โดยขยายงวดชำระหนี้ออกไปได้ไม่เกินจำนวนงวดที่กำหนดไว้ตามระเบียบว่าด้วยการให้เงินกู้แก่สมาชิก รวมทั้งการพิจารณาเงินได้รายเดือนคงเหลือให้เป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการให้เงินกู้แก่สมาชิกเช่นเดียวกัน

สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ที่ค้างชำระ (ถ้ามี) อาจตั้งพักชำระไว้ชั่วระยะเวลาหนึ่งก็ได้ แต่ต้องชำระให้เสร็จสิ้นภายในไม่เกินงวดชำระหนี้หนี้ที่ได้รับการขยายงวด โดยไม่คิดอกเบี้ย นับแต่มีการปรับโครงสร้างหนี้ตามวรรคแรก

สมาชิกผู้ค้ำประกันที่ต้องรับชำระหนี้แทนผู้กู้ อาจร้องขอให้ปรับโครงสร้างหนี้เฉพาะยอดเงินที่ต้องรับชำระหนี้แทนผู้กู้ก็ได้ หรือจะรวมกับยอดต้นเงินกู้ของตนเองด้วยก็ได้    ทั้งนี้  ให้เป็นไปตามความประสงค์ของสมาชิกผู้ร้องขอปรับโครงสร้างหนี้และเป็นไปตามเงื่อนไขในข้อ 6 และข้อ 7

การปรับโครงสร้างหนี้ของสมาชิกรายใดรายหนึ่ง ให้กระทำได้ได้ไม่เกิน 4 ครั้ง  และยอดเงินที่ปรับโครงสร้างหนี้แต่ละครั้งจะต้องไม่เกินต้นเงินกู้คงเหลือ

ข้อ 11 อัตราดอกเบี้ย ให้เรียกดอกเบี้ยเงินกู้ที่เกิดจากการปรับโครงสร้างหนี้ในอัตราตามประกาศของสหกรณ์

          สมาชิกรายใดที่ไม่ชำระคืนต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งหมดหรือบางส่วนให้สหกรณ์ตามระยะเวลาที่กำหนด สหกรณ์จะเรียกค่าปรับสำหรับเงินส่วนที่มิได้ชำระตามกำหนดในอัตราร้อยละ 1 นอกเหนือจากอัตราดอกเบี้ยปกติ นับแต่วันที่ผิดนัดชำระหนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระหนี้ดังกล่าวแล้วเสร็จ

ข้อ 12 หลักประกันเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ให้ใช้หลักประกันอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน ดังนี้

  •  มีสมาชิกสหกรณ์ตามที่คณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควรเป็นผู้ค้ำประกัน ตามจำนวนที่กำหนดไว้ในระเบียบว่าด้วยการให้เงินกู้แก่สมาชิก
  •  มีอสังหาริมทรัพย์อันปลอดจากภาระจำนองรายอื่น จำนองเป็นประกันเต็มจำนวนเงินกู้รายนั้น หรือหลักประกันอื่น ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในระเบียบว่าด้วยการให้เงินกู้แก่สมาชิก

ข้อ 13 เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติให้สมาชิกรายใดปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ให้ถือปฏิบัติดังนี้

  •  สมาชิกรายใดที่ผิดนัดการส่งเงินงวดชำระหนี้ไม่ว่าต้นเงินหรือดอกเบี้ยในปีใด มิให้ได้รับเงินเฉลี่ยคืนสำหรับปีนั้น
  •  สมาชิกที่ผิดนัดการส่งเงินงวดชำระหนี้ไม่ว่าต้นเงินหรือดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นเวลาถึงสองเดือน หรือผิดนัดการส่งเงินงวดชำระหนี้ถึงสามคราวสำหรับเงินกู้รายหนึ่งๆ ให้ถือว่าเงินกู้นั้นเป็นอันถึงกำหนดส่งคืนโดยสิ้นเชิงพร้อมทั้งดอกเบี้ยในทันที โดยมิพักต้องคำนึงถึงกำหนดเวลาที่ให้ไว้และให้คณะกรรมการจัดการเรียกคืนโดยมิชักช้า

ข้อ 14 กรณีเรื่องใดไม่ได้กำหนดไว้เป็นพิเศษตามระเบียบนี้ ให้ถือปฏิบัติในการให้เงินกู้เป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการให้เงินกู้แก่สมาชิก และให้คณะกรรมการมีอำนาจในการวินิจฉัยตีความเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้

ข้อ 15 ให้ประธานกรรมการรักษาการตามระเบียบนี้

                    ประกาศ  ณ  วันที่      17     เมษายน   พ.ศ. 2563